บาลีวันละคำ

สัตตาหกรณียะ (บาลีวันละคำ 1,168)

สัตตาหกรณียะ

ภาษาชาววัด

ไม่เกี่ยวกับชาวบ้านโดยตรง แต่ควรรู้ไว้

ประกอบด้วย สัตตาห + กรณียะ

(๑) “สัตตาห” (สัด-ตา-หะ)

มาจาก สตฺต (สัด-ตะ = จำนวนเจ็ด) + อห (อะ-หะ = วัน, กลางวัน), ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(ห) เป็น อา

: สตฺต + อห = สตฺตาห แปลตามศัพท์ว่า “เจ็ดวัน” หมายถึงรอบ ๗ วัน เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ถึงวันเสาร์ หรือระยะเวลา ๗ วัน

สตฺตาห เป็นคำเดียวกับที่ในภาษาไทยใช้ว่า “สัปดาห์” คือ บาลี “สตฺต” สันสกฤตเป็น “สปฺต” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น สัปด

สัปด + อห = “สัปดาห” ไม่ออกเสียง หะ จึงใส่การันต์ที่ เขียนเป็น “สัปดาห์

(๒) “กรณียะ

บาลีเป็น “กรณีย” (กะ-ระ-นี-ยะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อนีย ปัจจัย (ควร, พึง) แปลง ที่ อนีย เป็น (อนีย > อณีย)

: กรฺ + อนีย = กรนีย > กรณีย แปลตามศัพท์ว่า “ควรทำ” “พึงทำ” หมายถึง กิจที่ควรทำ, สิ่งที่ควรทำ, ข้อผูกพัน, หน้าที่, การงาน (what ought to be done, duty, obligation; affairs, business)

ในภาษาไทย เขียนเป็น “กรณียะ” อ่านว่า กะ-ระ-นี-ยะ เขียนเป็น “กรณีย์” อ่านว่า กะ-ระ-นี

คำที่เราคุ้นคือ “กรณียกิจ” ก็เป็นคำเดียวกันนี้

สัตตาห + กรณียะ = สัตตาหกรณียะ แปลตามศัพท์ว่า “กิจที่ควรทำในเจ็ดวัน

สัตตาหกรณียะ มักเรียกสั้นๆ ว่า “สัตตาหะ” คนเก่าๆ ออกเสียงเป็น สัด-ตะ-หะ (-ตะ-หะ ไม่ใช่ -ตา-หะ) ก็มี

ความเห็นเรื่องการอ่าน :

คำว่า “สัตตาหกรณียะ” พจน.54 บอกไว้ว่าอ่านได้ 2 แบบ คือสัด-ตา-หะ-กะ-ระ-นี-ยะ และ สัด-ตา-หะ-กอ-ระ-นี-ยะ (แบบหนึ่งอ่านว่า -กะ-ระ-นี- อีกแบบหนึ่งอ่านว่า -กอ-ระ-นี-)

อันที่จริง -กะ-ระ-นี- เป็นคำอ่านที่ถูกต้อง

ส่วน -กอ-ระ-นี- เกิดจากการอ่านผิด แล้ว พจน.ไปรับรองว่าถูก

ถามเล่นๆ :

ทำไมจึงอ่านเสียง ออ เฉพาะ -ก- พยางค์อื่นทำไมไม่อ่านเสียง ออ ด้วย

ถ้ามีคนอ่านว่า สัด-ตา-หอ-กอ-รอ-นี-ยะ ขึ้นมา จะถือว่าอ่านถูกได้หรือไม่

ไม่เกี่ยวกับชาวบ้านโดยตรง แต่ควรรู้ไว้ :

ในระหว่างจำพรรษา 3 เดือนตามวินัยสงฆ์ ภิกษุจะไปค้างแรมที่อื่นนอกจากสถานที่ซึ่งอธิษฐานจำพรรษาไว้แล้วมิได้ แต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นก็มีพุทธานุญาตให้ไปค้างแรมคืนที่อื่นได้ แต่ต้องกลับภายใน 7 วัน

การไปด้วยกิจจำเป็นดังว่านี้เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัตตาหกรณียะ : (คำนาม) กิจที่พึงทำเป็นเหตุให้ภิกษุออกจากวัดไปพักแรมในที่อื่นในระหว่างพรรษาได้ไม่เกิน ๗ วัน เช่นเพื่อไปพยาบาลภิกษุสามเณรหรือบิดามารดาที่ป่วยไข้หรือเพื่อบำรุงศรัทธาของทายก.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

สัตตาหกรณียะ : ธุระเป็นเหตุให้ภิกษุออกจากวัดในระหว่างพรรษาได้ ๗ วัน ได้แก่

๑. ไปเพื่อพยาบาลสหธรรมิกหรือมารดาบิดาผู้เจ็บไข้

๒. ไปเพื่อระงับสหธรรมิกที่กระสันจะสึก

๓. ไปเพื่อกิจสงฆ์ เช่น ไปหาทัพสัมภาระมาซ่อมวิหารที่ชำรุดลงในเวลานั้น

๔. ไปเพื่อบำรุงศรัทธาของทายกซึ่งส่งมานิมนต์เพื่อการบำเพ็ญกุศลของเขา และธุระอื่นจากนี้ที่เป็นกิจลักษณะอนุโลมตามนี้ได้

……

สรุปว่า “สัตตาหกรณียะ” คือกิจที่จำเป็นต้องไปทำ และจำกัดด้วยเวลา

: ถ้าจะทำความดี มีเวลาแค่นาทีก็ยังทัน

: แต่ถ้ามัวประมาท มีเวลาทั้งชาติก็เป็นหมัน

10-8-58

ต้นฉบับ