วินาศกรรม (บาลีวันละคำ 1,179)
วินาศกรรม
อ่านว่า วิ-นาด-สะ-กำ
ประกอบด้วย วินาศ + กรรม
(๑) “วินาศ”
บาลีเป็น “วินาส” (วิ-นา-สะ) รากศัพท์มาจาก วิ (พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นสฺ (ธาตุ = พินาศ, หายไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ น-(สฺ) เป็น อา (นสฺ > นาสฺ)
: วิ + นสฺ = วินส + ณ = วิสนณ > วินส > วินาส แปลตามศัพท์ว่า “ความหายไป” หมายถึง ความพินาศ, ความล่มจม, ความสูญหาย (destruction, ruin, loss)
“วินาส” ใช้ในภาษาไทยตามรูปสันสกฤตเป็น “วินาศ” (วิ-นาด)
(๒) “กรรม”
บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (กรฺ > ก) และ ร ที่ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: กรฺ > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work)
“กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”
“กรรม” ในแง่ความหมาย :
(1) การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม
(2) การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม
(3) การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม
(4) พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม
วินาศ + กรรม = วินาศกรรม แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำให้หายไป” (คือทำให้สิ่งนั้นๆ หายไปจากสภาพเดิม)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วินาศกรรม : (คำนาม) การลอบทําลายหรือเผาผลาญทรัพย์สินโรงงานอุตสาหกรรมเป็นต้น ของนายจ้างหรือของศัตรู เช่น ในกรณีที่เกิดพิพาทกันขึ้นระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือเพื่อตัดกําลังฝ่ายศัตรูเมื่อทําสงครามกันโดยตรงหรือโดยปริยาย.”
: ก่อวินาศกรรมให้เขา
: ใจมนุษย์ของเราพินาศไปก่อนแล้ว
21-8-58