วาทศิลป์ (บาลีวันละคำ 1,180)
วาทศิลป์
อ่านว่า วา-ทะ-สิน
ประกอบด้วย วาท + ศิลป์
(๑) “วาท” (วา-ทะ)
รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ว-(ทฺ) เป็น อา (วทฺ > วาทฺ)
: วทฺ + ณ = วทณ > วท > วาท แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นเครื่องพูด”
คำว่า “วาท” ที่ใช้ในภาษาบาลีมีความหมายมากกว่าที่เราเข้าใจกันในภาษาไทย กล่าวคือ :
(1) การพูด, คำพูด, การคุย (speaking, speech, talk)
(2) สิ่งที่พูดกัน, ชื่อเสียง, คุณสมบัติ, ลักษณะพิเศษ (what is said, reputation, attribute, characteristic)
(3) การสนทนา, การทะเลาะกัน, การโต้เถียง, ความขัดแย้ง, การคัดค้าน (discussion, disputation, argument, controversy, dispute)
(4) คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักความเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย (doctrine, theory put forth, creed, belief, school, sect)
(๒) “ศิลป์”
เป็นรูปคำสันสกฤต “ศิลฺป” บาลีเป็น “สิปฺป” (สิบ-ปะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สปฺปฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย, ลง อิ อาคมต้นธาตุ (สปฺป > สิปฺป)
: สปฺป > สิปฺป + อ = สิปฺป แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องดำเนินไปแห่งชีวิต” = อาศัย “สิ่งนั้น” จึงเลี้ยงชีวิต คือทำชีวิตให้ดำเนินไปได้
(2) สิ (ธาตุ = เสพ) + ป ปัจจัย, ซ้อน ปฺ
: สิ + ปฺ + ป = สิปฺป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ปรารถนาประโยชน์แห่งตนเสพอาศัย” = ถ้าต้องการประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องอาศัยศึกษาเรียนรู้ “สิ่งนั้น” จนทำได้ทำเป็น แล้วใช้สิ่งนั้นยังประโยชน์ให้เกิดตามต้องการ
“สิปฺป” หมายถึง ศิลปะ, แขนงของความรู้, การช่าง (art, branch of knowledge, craft)
สิปฺป ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น ศิลป
(ก) คำนี้ถ้าอยู่คำเดียว
– ต้องการให้อ่านว่า สิน-ละ-ปะ เขียนว่า “ศิลปะ” (ประวิสรรชนีย์ที่ ป) (เขียนว่า “ศิลป” จะอ่านว่า สิน-ละ-ปะ ไม่ได้)
– ต้องการให้อ่านว่า สิน เขียนว่า “ศิลป์” (การันต์ที่ ป)
(ข) ถ้าสมาสกับคำอื่น อยู่ต้นหรือกลางคำ และอ่านว่า สิน-ละ-ปะ ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ที่ ป เช่น ศิลปศาสตร์ (สิน-ละ-ปะ-สาด) ไม่ใช่ ศิลปะศาสตร์
คำว่า สิปฺป > ศิลป หมายถึงอะไรได้บ้าง :
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิปฺป” คำหนึ่งว่า art
พจนานุกรมสอ เสถบุตร แปล art ว่า วุฒิสามารถ, เล่ห์กระเทห์, อุบาย
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล art กลับเป็นบาลีว่า –
(1) sippa สิปฺป (สิบ-ปะ) = หลักความรู้
(2) kosalla โกสลฺล (โก-สัน-ละ) = ความฉลาด
(3) nepuñña เนปุญฺญ (เน-ปุน-ยะ) = ความจัดเจน
(4) cittakamma จิตฺตกมฺม (จิด-ตะ-กำ-มะ) = ภาพวาด, การวาดภาพ
(5) kalā กลา (กะ-ลา) = ชั้นเชิง > กล
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศิลป-, ศิลป์ ๑, ศิลปะ : (คำนาม) ฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การทำให้วิจิตรพิสดาร, เช่น เขาทำดอกไม้ประดิดประดอยอย่างมีศิลปะ ผู้หญิงสมัยนี้มีศิลปะในการแต่งตัว รูปสลักวีนัสเป็นรูปศิลป์; การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่าง ๆ อย่างเสียง เส้น สี ผิว รูปทรง เป็นต้น เช่น ศิลปะการดนตรี ศิลปะการวาดภาพ ศิลปะการละคร วิจิตรศิลป์. (ส. ศิลฺป; ป. สิปฺป ว่า มีฝีมืออย่างยอดเยี่ยม).”
วาท + ศิลป์ = วาทศิลป์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วาทศิลป์ : (คำนาม) ศิลปะในการใช้ถ้อยคําสํานวนโวหารให้ประทับใจ. (อ. rhetoric).”
พจนานุกรมสอ เสถบุตร แปล rhetoric (เรท-โอะริค) ว่า –
: ศิลปะแห่งการพูดเพื่อชวนใจคนฟัง หรือการเขียนเพื่อชวนใจคนอ่าน เช่นการใช้อุปมาอุปไมย, ถ้อยคำสำนวนที่สละสลวย
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล rhetoric เป็นบาลีว่า –
(1) alaṅkārasattha อลํการสตฺถ (อะ-ลัง-กา-ระ-สัด-ถะ) = วิชาว่าด้วยการทำ (ถ้อยคำ) ให้งดงาม
(2) silesālaṅkāra สิเลสาลํการ (สิ-เล-สา-ลัง-กา-ระ) = การตกแต่งคำพูดให้น่าฟัง
วาทศิลป์ตามหลักของพระพุทธศาสนา :
(1) กาเลน ภาสิตา พูดถูกกาลเทศะ
(2) สจฺจา ภาสิตา พูดเรื่องที่เป็นจริง
(3) สณฺหา ภาสิตา พูดคำสุภาพ
(4) อตฺถสญฺหิตา ภาสิตา พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง
(5) เมตฺตจิตฺเตน ภาสิตา พูดจากน้ำใจอันงาม
(สุภาสิตสูตร ปัญจกนิบาต อังคุตรนิกาย
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๑๙๘)
: คำพูดดี แต่ไม่จริงใจด้วย
: คือความสวยของดอกไม้ปลอม
————
(ตามประสงค์ของพระคุณท่าน Boonthavy Vilaychak)
22-8-58