เทวทูต (บาลีวันละคำ 1,181)
เทวทูต
อ่านว่า เท-วะ-ทูด
ประกอบด้วย เทว + ทูต
(๑) “เทว” (เท-วะ)
รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ
: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”
ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา
แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังหมายถึงอีกหลายอย่าง คือ พระยม, ความตาย, สมมติเทพ, พระราชา, ท้องฟ้า, ฝน, เมฆฝน, เทพแห่งฝน
(๒) “ทูต” (ทู-ตะ)
รากศัพท์มาจาก ทุ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป, เดือดร้อน) + ต ปัจจัย, ทีฆะ (ยืดเสียง) อุ ที่ ทุ เป็น อู (ทุ > ทู)
: ทุ + ต = ทุต > ทูต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขาส่งไป” “ผู้เดือดร้อน” (เพราะจะต้องผจญการต่างๆ แทนเจ้าของเรื่อง) หมายถึง ผู้ไปทำการแทน
บางตำราว่า “ทูต” ใช้ “ทูร” (ทู-ระ) แทนได้
“ทูร” แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ไปถึงโดยยาก” หมายถึง ไกล, ห่าง, ห่างไกล
ตามนัยนี้ ทูร < ทูต มีความหมายว่า “ผู้ถูกส่งออกไปไกล”
อนึ่ง ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า “ทูต” คำนี้ใช้ ท ทหาร ไม่ใช่ ฑ มณโฑ
เทว + ทูต = เทวทูต แปลทับศัพท์ว่า “ทูตของเทวดา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เทวทูต : (คำนาม) ชื่อคติแห่งธรรมดา ๓ ประการ คือ ชรา พยาธิ มรณะ.”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทวทูต” ว่า Yama’s envoy, Death’s messenger, the god’s messenger (ทูตพญายม, มรณทูต, ทูตของเทวดา)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
เทวทูต (Devadūta) : lit. gods’ messenger; divine messenger; a symbolic name for those things which remind man of his future and rouse him to earnest striving.
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายความหมายของ “เทวทูต” ไว้ว่า –
เทวทูต : ทูตของยมเทพ, สื่อแจ้งข่าวของมฤตยู, สัญญาณที่เตือนให้ระลึกถึงคติธรรมดาของชีวิต มิให้มีความประมาท จัดเป็น ๓ ก็มี ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย, จัดเป็น ๕ ก็มี ได้แก่ เด็กแรกเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนถูกลงราชทัณฑ์ และคนตาย (เทวทูต ๓ มาในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, เทวทูต ๕ มาในเทวทูตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์); ส่วน เทวทูต ๔ ที่เจ้าชายสิทธัตถะพบก่อนบรรพชา คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะนั้น ๓ อย่างแรกเป็นเทวทูต ส่วนสมณะเรียกรวมเป็นเทวทูตไปด้วยโดยปริยาย เพราะมาในหมวดเดียวกัน แต่ในบาลี ท่านเรียกว่า นิมิต ๔ หาเรียกเทวทูต ๔ ไม่ อรรถกถาบางแห่งพูดแยกว่า พระสิทธัตถะเห็นเทวทูต ๓ และสมณะ (มีอรรถกถาแห่งหนึ่งอธิบายในเชิงว่าอาจเรียกทั้งสี่อย่างเป็นเทวทูตได้ โดยความหมายว่าเป็นของที่เทวดานิรมิตไว้ ระหว่างทางเสด็จของพระสิทธัตถะ)
: เทวทูตมาเตือนตั้งแต่เกิด
: ทั้งที่ตาก็เปิด แต่กลับมองไม่เห็น
23-8-58