นิยาย – นวนิยาย (บาลีวันละคำ 1,187)
นิยาย – นวนิยาย
น่าจะเป็นบาลีที่เกิดในไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“นิยาย : (คำนาม) เรื่องที่เล่ากันมา.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้คำนิยามใหม่เป็นว่า –
“นิยาย : (คำนาม) เรื่องที่แต่งขึ้น.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่าคำว่า “นิยาย” เป็นภาษาอะไร แต่รูปคำอาจอธิบายให้เป็นบาลีได้
(๑) “นิยาย” (บาลีอ่านว่า นิ-ยา-ยะ)
รากศัพท์มาจาก นิ (ขึ้น, ออก) + อยฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลง ย อาคมหน้าธาตุ (ย + อยฺ = ยยฺ) ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ อ-(ยฺ) เป็น อา (อยฺ > อายฺ)
: นิ + ย + อยฺ = นิยย + ณ = นิยยณ > นิยย > นิยาย แปลตามศัพท์ว่า (1) “วิธีเป็นเครื่องแสดงเนื้อความออกมา” (2) “วิธีที่ยกเรื่องราวขึ้นแสดง” หมายถึง การบรรยายเรื่อง, การเล่าเรื่อง, เรื่องเล่า (narration, recount, tale)
โปรดทราบว่านี่เป็นการอธิบายรูปศัพท์ตามหลักภาษาบาลี และแสดงความหมายตามที่เข้าใจกันในภาษาไทย ในคัมภีร์ไม่พบศัพท์ที่มีความหมายเช่นนี้
(๒) “นวนิยาย”
คำนี้บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า novel คือเลียนเสียง novel เป็น นว– (นะ-วะ-) ที่แปลว่า ใหม่
: นว + นิยาย = นวนิยาย แปลตามศัพท์ว่า “นิยายใหม่” หมายถึงเรื่องที่แต่งขึ้นในแนวใหม่ให้มีความสมจริง ต่างจากการเล่านิทานแบบเก่า
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล novel ว่า
1. นวนิยาย, หนังสือเริงรมย์กล่าวด้วยชีวิตธรรมดาของเรา
2. แปลก, ใหม่
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล novel เป็นบาลีว่า –
(1) navapabandha นวปพนฺธ (นะ-วะ-ปะ-พัน-ทะ) = เรื่องที่แต่งขึ้นใหม่
(2) navakathā นวกถา (นะ-วะ-กะ-ถา) = เรื่องเล่าในแนวใหม่
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นวนิยาย : (คำนาม) บันเทิงคดีร้อยแก้วขนาดยาวรูปแบบหนึ่ง มีตัวละคร โครงเรื่อง เหตุการณ์ในเรื่อง และสถานที่ ที่ทำให้เนื้อเรื่องมีความสมจริง เช่น เรื่องหญิงคนชั่ว ของ ก. สุรางคนางค์ เรื่องเรือมนุษย์ ของ กฤษณา อโศกสิน, ถ้ามีขนาดสั้น เรียกว่า นวนิยายขนาดสั้น เช่น เรื่องดรรชนีนาง ของ อิงอร เรื่องสร้อยทอง ของ นิมิต ภูมิถาวร.”
: อยากให้นิยายชีวิตเป็นอย่างไร
: มีสิทธิ์เขียนเองได้ตั้งแต่ชาตินี้
29-8-58