อธิกรณสมถะ (บาลีวันละคำ 977)
อธิกรณสมถะ
ศัพท์เทคนิคเกี่ยวกับวินัยสงฆ์
แนวทางการแก้ไขอธิกรณ์ตามพุทธวิธี
อ่านว่า อะ-ทิ-กะ-ระ-นะ-สะ-มะ-ถะ
ประกอบด้วย อธิกรณ + สมถะ
(๑) “อธิกรณ”
มาจาก อธิ + กรณ = อธิกรณ แปลตามศัพท์ว่า “กระทำยิ่ง” ในที่นี้หมายถึง กรณี, ปัญหา, ชนวน, เรื่องราว, คดีความ (case, question, affair, lawsuit, dispute, disciplinary case of dispute)
(ดูเพิ่มเติมที่ “อธิกรณ์” บาลีวันละคำ (973) 16-1-58)
อธิกรณ ใช้ในภาษาไทยว่า “อธิกรณ์” (อะ-ทิ-กอน) หมายถึง เหตุ, โทษ, คดี, เรื่องราว เป็นคำที่ใช้ในวงการสงฆ์ เช่น “ต้องอธิกรณ์” ความหมายเท่ากับ “ต้องคดี”
อธิกรณ์ : เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ, เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ มี 4 อย่าง คือ –
(1) วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย
(1) อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ
(3) อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ
(4) กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่างๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ เช่นให้อุปสมบท ให้ผ้ากฐิน
(๒) “สมถะ”
บาลีเขียน “สมถ” (สะ-มะ-ถะ) มาจาก สมุ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + ถ ปัจจัย = สมถ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมที่ยังความพอใจใจกามให้สงบ” เป็นคำเดียวกับที่เราคุ้นเคยในคำว่า “สมถวิปัสสนา” หมายถึง –
(1) สงบนิ่ง, สงบใจ (calm, quietude of heart)
(1) การระงับอธิกรณ์ (settlement of legal questions)
อธิกรณ + สมถ = อธิกรณสมถ หมายถึง วิธีดำเนินการเพื่อระงับอธิกรณ์, การระงับปัญหาหรืออธิกรณ์ที่เกิดขึ้น
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อธิกรณสมถะ” ว่า
(1) ways in which litigation may be settled.
(2) the settlings of questions that have arisen.
อธิกรณสมถะมี 7 วิธี ชื่อเรียกอธิกรณสมถะทั้ง 7 และความหมาย แสดงตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ) ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ดังนี้ –
อธิกรณสมถะ : ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์, วิธีดำเนินการเพื่อระงับอธิกรณ์ (settling of a case, a question, a dispute or a lawsuit; transaction; settlement of legal processes) –
(1) สัมมุขาวินัย (สำ-มุ-ขา-) วิธีระงับในที่พร้อมหน้า (verdict in the presence of a Sangha, the persons and the matter concerned, and the Doctrine and Discipline).
(2) สติวินัย (สะ-ติ-) วิธีระงับโดยถือสติเป็นหลัก (verdict of innocence; procedure for the acquittal of an Arahant who has fully-developed mindfulness).
(3) อมูฬหวินัย (อะ-มูน-หะ-) วิธีระงับสำหรับผู้หายจากเป็นบ้า (verdict of past insanity).
(4) ปฏิญญาตกรณะ (ปะ-ติน-ยา-ตะ-กะ-ระ-นะ) การทำตามที่รับ (doing according to what is admitted; proceeding on the acknowledgement [by the accused monk])
(5) ตัสสปาปิยสิกา (ตัด-สะ-ปา-ปิ-ยะ-สิ-กา) การตัดสินลงโทษแก่ผู้ผิดที่ไม่รับ (inflicting a penalty on one who is at fault; decision for specific depravity).
(6) เยภุยยสิกา (เย-พุย-ยะ-สิ-กา) การตัดสินตามคำของคนข้างมาก (decision according to the majority).
(7) ติณวัตถารกวินัย (ติน-นะ-วัด-ถา-ระ-กะ-) วิธีดุจกลบไว้ด้วยหญ้า (ประนีประนอม) (procedure for covering over (as) with grass, (a reconciliation of both parties without need for clearing up the rights and wrongs).
หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มขึ้น ก็พึงดูต่อไป :
(1) สัมมุขาวินัย วิธีระงับในที่พร้อมหน้า
ระเบียบอันพึงทำในที่พร้อมหน้า, วิธีระงับต่อหน้า ได้แก่ การระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้าสงฆ์ (สังฆสัมมุขตา คือภิกษุเข้าประชุมครบองค์สงฆ์), ในที่พร้อมหน้าบุคคล (ปุคคลสัมมุขตา คือบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นอยู่พร้อมหน้ากัน), ในที่พร้อมหน้าวัตถุ (วัตถุสัมมุขตา คือยกเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นวินิจฉัย), ในที่พร้อมธรรมวินัย (ธัมมสัมมุขตา และ วินยสัมมุขตา คือนำเอาหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพระธรรมวินัยมาใช้ปฏิบัติ ได้แก่วินิจฉัยถูกธรรม ถูกวินัย); สัมมุขาวินัย ใช้เป็นเครื่องระงับอธิกรณ์ได้ทุกอย่าง
(2) สติวินัย วิธีระงับโดยถือสติเป็นหลัก
ระเบียบยกเอาสติขึ้นเป็นหลัก ได้แก่ กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่พระอรหันต์ ว่าเป็นผู้มีสติเต็มที่ เพื่อระงับอนุวาทาธิกรณ์ ที่มีผู้โจทท่านด้วยศีลวิบัติ หมายความว่าจำเลยเป็นพระอรหันต์ สงฆ์เห็นว่าไม่เป็นฐานะที่จำเลยจะทำการล่วงละเมิดดังโจทก์กล่าวหา จึงสวดกรรมวาจาประกาศความข้อนี้ไว้ เรียกว่าให้สติวินัย แล้วยกฟ้องของโจทก์เสีย ภายหลังจำเลยจะถูกผู้อื่นโจทด้วยอาบัติอย่างนั้นอีก ก็ไม่ต้องพิจารณา ให้อธิกรณ์ระงับด้วยสติวินัย
(3) อมูฬหวินัย วิธีระงับสำหรับผู้หายจากเป็นบ้า
ระเบียบที่ให้แก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว, วิธีระงับอธิกรณ์สำหรับภิกษุผู้หายจากเป็นบ้า ได้แก่ กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว เพื่อระงับอนุวาทาธิกรณ์ อธิบายว่า จำเลยเป็นบ้าทำการล่วงละเมิดอาบัติ แม้จะเป็นจริงก็เป็นอนาบัติ เมื่อเธอหายบ้าแล้วมีผู้โจทด้วยอาบัติระหว่างเป็นบ้านั้นไม่รู้จบ ท่านให้สงฆ์สวดกรรมวาจาประกาศความข้อนี้ไว้ เรียกว่า อมูฬหวินัย ยกฟ้องโจทเสีย ภายหลังมีผู้โจทด้วยอาบัตินั้น หรืออาบัติเช่นนั้น ในคราวที่เป็นบ้า ก็ให้อธิกรณ์เป็นอันระงับด้วยอมูฬหวินัย
(4) ปฏิญญาตกรณะ การทำตามที่รับ
“ทำตามรับ” ได้แก่ ปรับอาบัติตามปฏิญญาของจำเลยผู้รับเป็นสัตย์ การแสดงอาบัติก็จัดเข้าในข้อนี้
(5) ตัสสปาปิยสิกา การตัดสินลงโทษแก่ผู้ผิดที่ไม่รับ
กรรมอันสงฆ์พึงทำเพราะความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้เลวทราม, กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้เป็นจำเลยในอนุวาทาธิกรณ์ ให้การกลับไปกลับมา เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวสารภาพ พูดถลากไถล พูดกลบเกลื่อนข้อที่ถูกซัก พูดมุสาซึ่งหน้า สงฆ์ทำกรรมนี้แก่เธอเป็นการลงโทษตามความผิดแม้ว่าเธอจะไม่รับ หรือเพื่อเพิ่มโทษจากอาบัติที่ต้อง
(6) เยภุยยสิกา การตัดสินตามคำของคนข้างมาก
กิริยาเป็นไปตามข้างมาก ได้แก่ วิธีตัดสินอธิกรณ์ โดยถือเอาตามคำของคนข้างมาก เช่น วิธีจับสลากเพื่อชี้ข้อผิดถูก ข้างไหนมีภิกษุผู้ร่วมพิจารณาลงความเห็นมากกว่า ก็ถือเอาพวกข้างนั้น เป็นวิธีอย่างเดียวกับการโหวตคะแนนเสียง, ใช้สำหรับระงับวิวาทาธิกรณ์
(7) ติณวัตถารกวินัย วิธีดุจกลบไว้ด้วยหญ้า (ประนีประนอม)
ระเบียบดังกลบไว้ด้วยหญ้า ได้แก่ กิริยาที่ให้ประนีประนอมกันทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องชำระสะสางหาความเดิม เป็นวิธีระงับอาปัตตาธิกรณ์ ที่ใช้ในเมื่อจะระงับลหุกาบัติที่เกี่ยวกับภิกษุจำนวนมาก ต่างก็ประพฤติไม่สมควรและซัดทอดกัน เป็นเรื่องนุงนังซับซ้อน ชวนให้ทะเลาะวิวาท กล่าวซัดลำเลิกกันไปไม่มีที่สุด จะระงับด้วยวิธีอื่นก็จะเป็นเรื่องลุกลามไป เพราะถ้าจะสืบสวนสอบสวนปรับให้กันและกันแสดงอาบัติ ก็มีแต่จะทำให้อธิกรณ์รุนแรงยิ่งขึ้น จึงระงับเสียด้วยติณวัตถารกวิธี คือแบบกลบไว้ด้วยหญ้า ตัดตอนยกเลิกเสีย ไม่สะสางความหลังกันอีก
————-
อย่างไรก็ตาม ทุกวิธีจะต้องยึดพระธรรมวินัยเป็นหลัก คือต้องไม่เป็นวิธีที่ลบล้าง หลีกเลี่ยง หรือบิดเบือนพระธรรมวินัย เช่น กระทำความผิดจริงถึงขั้นขาดจากความเป็นภิกษุ แต่ใช้วิธีประนีประนอมให้อยู่เป็นภิกษุต่อไปเพื่อเห็นแก่ความสงบ-อย่างนี้ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง
: เพียงแค่จิตสงบได้จริง ทุกสิ่งก็สยบ
————–
(พระคุณท่าน Sunant Pramaha เมตตาชี้แนะ)
#บาลีวันละคำ (977)
20-1-58