ปฏิชีวนะ (บาลีวันละคำ 1,197)
ปฏิชีวนะ
อ่านว่า ปะ-ติ-ชี-วะ-นะ
บาลีเขียน “ปฏิชีวน”
แยกศัพท์เป็น ปฏิ + ชีวน
(๑) ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “ปฏิ-”
“ปฏิ-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) เป็นศัพท์จำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อุปสรรค” ในไวยากรณ์ไว้ว่า หมายถึง คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง เช่น วัฒน์ = เจริญ อภิวัฒน์ = เจริญยิ่ง ปักษ์ = ฝ่าย ปฏิปักษ์ = ฝ่ายตรงข้าม, ข้าศึก, ศัตรู.
นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “ปฏิ : เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปฏิ– : คําอุปสรรคในภาษาบาลีใช้นําหน้าศัพท์อื่น แปลว่า เฉพาะ เช่น ปฏิทิน, ตอบ เช่น ปฏิพากย์, ทวน เช่น ปฏิโลม, กลับ เช่น ปฏิวัติ. (ป.; ส. ปฺรติ).”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ปฏิ-” ว่า back (to), against, towards, in opposition to, opposite (กลับ, ตอบ, เฉพาะ, มุ่งไปยัง, ตรงกันข้าม, กลับกัน)
(๒) “ชีวน” (ชี-วะ-นะ)
รากศัพท์มาจาก ชีวฺ (ธาตุ = มีชีวิต) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ชีวฺ + ยุ > อน = ชีวน แปลตามศัพท์ว่า “การดำรงชีวิตอยู่” หมายถึง ความเป็นอยู่, การดำรงชีพอยู่, การหาเลี้ยงชีพ (living, means of subsistence, livelihood)
ปฏิ + ชีวน = ปฏิชีวน ในภาษาไทยเขียน “ปฏิชีวนะ”
“ปฏิชีวนะ” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า antibiotic (anti- = ตรงกันข้าม, ปราบ, แก้, กำจัด, ต่อต้าน bio = ชีว-, สิ่งมีชีวิต)
“ปฏิชีวน” ตามศัพท์บาลีชวนให้แปลว่า “การกลับมีชีวิตขึ้นมาอีก”
แต่เมื่อเป็นคำที่บัญญัติมาจาก antibiotic จึงต้องแปลตามคำอังกฤษว่า “สิ่งที่ต่อต้านสิ่งมีชีวิต”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปฏิชีวนะ : (คำนาม) เรียกยาประเภทที่มีสารที่สกัดจากผลผลิตของเชื้อจุลินทรีย์ ใช้ฆ่าหรือยับยั้งการแพร่พันธุ์ของแบคทีเรีย ว่า ยาปฏิชีวนะ. (อ. antibiotics).”
พุทธภาษิต:
อกฺโกเธน ชิเน โกธํ
อสาธุํ สาธุนา ชิเน
ชิเน กทริยํ ทาเนน
สจฺเจาลิกวาทินํ.
(โกธวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๗)
ตอบโกรธด้วยไม่โกรธ
ตอบโหดด้วยความดี
ตอบตระหนี่ด้วยให้
ตอบเหลวไหลด้วยสัจจะ
8-9-58