บาลีวันละคำ

ญัตติ (บาลีวันละคำ 2,225)

ญัตติ

บางทีก็ยัดไส้จนน่าติ

อ่านว่า ยัด-ติ

บาลีเป็น “ญตฺติ” (ยัด-ติ) รากศัพท์มาจาก ญา (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (ญา > ), แปลง ติ เป็น ตฺติ

: ญา + ติ = ญาติ > ญติ > ญตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การบอกให้รู้” “การบอกให้เข้าใจกัน” หมายถึง การประกาศ, การแจ้งให้ทราบ (announcement, declaration)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “ญตฺติ” เป็นอังกฤษว่า a motion

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ว่า –

ญัตติ : คำเผดียงสงฆ์, การประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่อทำกิจร่วมกัน, วาจานัด.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ญัตติ : (คำนาม) คำสวดประกาศเป็นภาษาบาลี เสนอให้ที่ประชุมสงฆ์ทราบเพื่อทำกิจของสงฆ์ร่วมกัน, คำเผดียงสงฆ์ ก็ว่า; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ข้อเสนอเพื่อให้มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในกิจการของสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ; ข้อเสนอเพื่อลงมติ เช่น ผู้แทนราษฎรเสนอญัตติเข้าสู่สภาเพื่อขอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่; หัวข้อโต้วาที เช่น โต้วาทีในญัตติว่า ขุนช้างดีกว่าขุนแผน. (ป.).”

สรุป :

ตามพจนานุกรมฯ ความหมายของ “ญัตติ” ในภาษาไทยมี 4 อย่าง คือ –

(1) คำสวดประกาศเสนอให้ที่ประชุมสงฆ์ทราบเพื่อทำกิจของสงฆ์ร่วมกัน

(2) ข้อเสนอเพื่อให้มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในกิจการของสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ

(3) ข้อเสนอเพื่อลงมติว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่

(4) หัวข้อโต้วาที

อภิปราย :

“ญัตติ” หรือข้อเสนอที่ใช้ในกิจการของบ้านเมือง หากมีการขอมติ โดยทั่วไปนิยมใช้เสียงข้างมากตัดสิน แม้เสียงค้านจะมีมากมายขนาดไหน ถ้าเสียงเห็นชอบมีมากกว่า-แม้เพียงเสียงเดียว-ญัตตินั้นก็ถือว่าผ่านความเห็นชอบ

ญัตติ” หรือข้อเสนอที่ใช้ในกิจการของสงฆ์ หากมีการขอมติ คะแนนเสียงจะต้องเป็นเอกฉันท์ หากมีผู้ค้าน-แม้เพียงเสียงเดียว-ญัตตินั้นถือว่าไม่ผ่าน และจะต้องทบทวนกันใหม่จนกว่าจะมีเสียงเห็นชอบเป็นเอกฉันท์

…………..

บางกรณี “ญัตติ” ก็มีคติคล้ายโลงศพ

กล่าวคือ โลงศพนั้นคนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ

ญัตติ” บางเรื่อง คนมีอำนาจลงมติไม่ได้ใช้ แต่คนใช้ไม่มีอำนาจลงมติ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำกฎหมายให้กลายเป็นโลงศพ

: คือทำจุดจบให้แก่สังคม

#บาลีวันละคำ (2,225)

16-7-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย