บาลีวันละคำ

อาชีพ (บาลีวันละคำ 1,212)

อาชีพ

อ่านว่า อา-ชีบ

บาลีเป็น “อาชีว” อ่านว่า อา-ชี-วะ

อาชีว” รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป, ยิ่ง) + ชีวฺ (ธาตุ = เป็นอยู่) + ปัจจัย

: อา + ชีวฺ = อาชีว + = อาชีว แปลตามศัพท์ว่า “การเป็นเหตุให้เป็นอยู่ได้” คือ “การเลี้ยงชีวิต

อาชีว ใช้ในภาษาไทย แผลง เป็น เป็น “อาชีพ” แต่ที่คงเป็น “อาชีว” ก็มี โดยเฉพาะเมื่อมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่น อาชีวศึกษา

สังเกตการให้ความหมาย :

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาชีว” ว่า livelihood, mode of living, living, subsistence (การทำมาหากิน, วิถีดำรงชีวิต, ความเป็นอยู่, อาชีวะ)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อาชีว : (คำนาม) เครื่องอาศรัยเลี้ยงชีพ, เครื่องอาศรัย; livelihood, subsistence, means of living.

พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกไว้ว่า –

(1) อาชีพ, อาชีวะ : n. adj. a trade, an occupation, a vocation, a profession; professional (boxer)

(2) อาชีวศึกษา : n. vocational training, vocational education

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาชีพ, อาชีว-, อาชีวะ : (คำนาม) การเลี้ยงชีวิต, การทํามาหากิน; งานที่ทําเป็นประจําเพื่อเลี้ยงชีพ. (ป., ส.).”

จะเห็นได้ว่า “อาชีวอาชีพ” ความหมายตามบาลีสันสกฤตเน้นไปที่ “การมีชีวิตรอด” (ยังไม่ตาย) ซึ่งเป็นความหมายเดิมแท้ แต่ความหมายตามภาษาไทยและที่แปลออกจากภาษาไทยเน้นไปที่ “การประกอบอาชีพ” (การทำงาน)

อาชีว” เป็น 1 ในองค์ประกอบของมรรคมีองค์ 8 หรือ อัฏฐังคิกมรรค (เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า “ทางมีองค์แปดประการอันประเสริฐ”) คือ “สัมมาอาชีวะ” = เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ (Right Livelihood) เป็นลักษณะเดียวกับที่เรียกว่า “อาชีวปาริสุทฺธิ” (อา-ชี-วะ-ปา-ริ-สุด-ทิ) ความบริสุทธิ์หรือความหมดจดของการดำรงชีพ (purity or propriety of livelihood) และ “อาชีวสมฺปทา” (อา-ชี-วะ-สำ-ปะ-ทา) ความถึงพร้อมด้วยการดำรงชีพถูกทาง (perfection of right livelihood)

ความหมายสั้นๆ ของ “อาชีวอาชีพ” ก็คือ วิธีการที่จะอยู่รอด หรือวิธีการที่จะไม่อดตาย

: คนธรรมดาคิดเพียงแค่ว่าทำอะไรจึงจะอยู่รอด

: คนชั้นยอดคิดต่อไปอีกว่าจะอยู่รอดไปทำอะไร

23-9-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย