รักษ์ (บาลีวันละคำ 1,421)
รักษ์
ไม่ได้แปลว่ารัก
“รักษ์” เป็นการเขียนตามรูปคำสันสกฤต “รกฺษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“รกฺษ : (คำนาม) การรักษา, การคุ้มครองป้องกัน; เท่าหรืออังคาร; preserving, protecting; ashes.”
“รักษ์” บาลีเป็น “รกฺข” (รัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก รกฺข (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + อ ปัจจัย
: รกฺข + อ = รกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดูแล” “ผู้รักษา”
ในบาลีมีคำว่า “รกฺขก” (รัก-ขะ-กะ) อีกคำหนึ่ง รากศัพท์มาจาก รกฺข + อ + ก ปัจจัย หรือบางทีเรียก “ก สกรรถ” (กะ สะ-กัด) คือลง ก ปัจจัยความหมายเท่าเดิม
รกฺข > รกฺขก มีความหมายดังนี้ –
(1) คุ้มครอง, ป้องกัน, ระมัดระวัง, เอาใจใส่ (guarding, protecting, watching, taking care)
(2) ปฏิบัติ, รักษา (observing, keeping)
(3) ผู้เพาะปลูก (สติปัญญา) (a cultivator)
(4) ทหารยาม (a sentry, guard, guardian)
เพื่อให้เห็นความหมายที่กว้างออกไปอีก ขอนำคำแปลคำกริยา “รกฺขติ” (รก-ขะ-ติ) ซึ่งเป็นรากเดิมของ “รกฺข” จากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มาเสนอเพิ่มเติมดังนี้ –
ความหมายของ รกฺขติ :
(1) ป้องกัน, ให้ที่พึ่ง, ช่วยให้รอด, ปกป้องรักษา (to protect, shelter, save, preserve)
(2) รักษา, ดูแล, เอาใจใส่, ควบคุม (เกี่ยวกับจิต และศีล) (to observe, guard, take care of, control [with ref. to the heart, and good character or morals])
(3) เก็บความลับ, เอาไปเก็บไว้, ระวังมิให้..(คือเลี่ยงจาก) (to keep (a) secret, to put away, to guard against [to keep away from])
รกฺข > รกฺษ ในภาษาไทยใช้เป็น “รักษ์” “รักษา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รักษ์, รักษา : (คำกริยา) ระวัง เช่น รักษาสุขภาพ, ดูแล เช่น รักษาทรัพย์สมบัติ, ป้องกัน เช่น รักษาบ้านเมือง, สงวนไว้ เช่น รักษาความสะอาด รักษาไมตรี; เยียวยา เช่น รักษาคนไข้. (ส.; ป. รกฺข).”
“รักษ์” อ่านว่า รัก พ้องเสียงกับ “รัก” คำไทย
“รัก” คำไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –
“รัก ๒ : (คำกริยา) มีใจผูกพันด้วยความห่วงใย เช่น พ่อแม่รักลูก รักชาติ รักชื่อเสียง, มีใจผูกพันด้วยความเสน่หา, มีใจผูกพันฉันชู้สาว, เช่น ชายรักหญิง, ชอบ เช่น รักสนุก รักสงบ.”
ปัจจุบัน ในภาษาไทยมีการนิยมใช้คำว่า “รักษ์” โดยเจตนาให้หมายถึง “รักษา” แต่ให้มีเสียงสื่อเป็นนัยถึง “รัก” ในคำไทย เช่น รักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์ธรรมชาติ รักษ์โลก รักษ์วัฒนธรรม
แต่เมื่อดูคำแปลจะเห็นว่า “รักษ์” ทั้งในบาลีสันสกฤตและที่เอามาใช้ในภาษาไทย ไม่ได้มีความหมายเหมือน “รัก” คำไทยแต่ประการใด
ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่า “รัก” คำไทยมีความอ่อนหวาน นุ่มนวล ลุ่มลึก และกว้างขวาง เพราะออกมาจากหัวใจ ส่วน “รักษ์” ในบาลีสันสกฤตบอกถึงการกระทำอย่างเป็นกลางๆ ไม่ได้สื่อถึงความรู้สึกว่าทำเพราะรักหรือเป็นเพียงการทำตามหน้าที่
: บอกหัวใจให้รัก
: แล้วจะได้มากกว่ารักษ์
22-4-59