บาลีวันละคำ

สุจริต (บาลีวันละคำ 1,222)

สุจริต

อ่านว่า สุด-จะ-หฺริด

บาลีอ่านว่า สุ-จะ-ริ-ตะ

ประกอบด้วย สุ + จริต

(๑) “สุ

เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ดี, งาม, ง่าย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สุ-” ไว้ว่า well, happily, thorough (ดี, อย่างมีสุข, ทั่วถึง)

(๒) “จริต” (จะ-ริ-ตะ)

รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, เที่ยวไป) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (จรฺ > อิ < )

: จรฺ + อิ + = จริต แปลตามรูปศัพท์ว่า “ประพฤติแล้ว” “เที่ยวไปแล้ว

จริต” ในบาลี ใช้เป็นคำนาม แปลว่า การกระทำ, ความประพฤติ, การอยู่ (action, behaviour, living) ใช้เป็นคุณศัพท์ แปลว่า ไป, เคลื่อนที่, เที่ยวไป, จริต, ประพฤติ (going, moving, being like, behaving)

จริต” ภาษาไทยอ่านว่า จะ-หฺริด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

จริต : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาหรืออาการ, เช่น พุทธจริต เสียจริต วิกลจริต, บางทีใช้ในทางไม่ดี เช่น ดัดจริต มีจริต, จริตจะก้าน ก็ว่า. (ป.).”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

จริต : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาหรืออาการ, เช่น เสียจริต วิกลจริต, มักใช้ในทางไม่ดี เช่น ดัดจริต มีจริต, จริตจะก้าน ก็ว่า; ความประพฤติปรกติ, ความประพฤติที่หนักในทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปรกติอยู่ในสันดาน, แนวโน้มของจิตใจ, มี ๖ อย่าง คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต. (ป.).”

สุ + จริต = สุจริต แปลตามศัพท์ว่า “ประพฤติดี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุจริต” ว่า good action, right conduct (การกระทำที่ดี, ความประพฤติที่ถูกต้อง)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “สุจริต” เป็นอังกฤษว่า right conduct; good conduct; uprightness.

ในภาษาไทย พจน.54 บอกความหมายไว้สั้นๆ ว่า “ความประพฤติชอบ”

ในทางธรรม สุจริต แบ่งเป็น 3 อย่าง คือ –

(1) กายสุจริต (good conduct in act) ความประพฤติชอบด้วยกาย มี 3 คือ งดเว้นและประพฤติตรงข้ามกับ ปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) : มีเมตตา, อทินนาทาน (ลักทรัพย์) : ประกอบสัมมาชีพ และ กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม) : ยินดีเฉพาะในคู่ครองของตน

(2) วจีสุจริต (good conduct in word) ความประพฤติชอบด้วยวาจา มี 4 คือ งดเว้นและประพฤติตรงข้ามกับ มุสาวาท (พูดเท็จ) : พูดคำจริง, ปิสุณาวาจา (พูดส่อเสียดยุยง) : พูดสมานไมตรี, ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) : พูดคำสุภาพ และ สัมผัปปลาปะ (พูดไร้สาระ) : พูดเรื่องดีมีประโยชน์

(3) มโนสุจริต (good conduct in thought) ความประพฤติชอบด้วยใจ มี 3 คือ อนภิชฌา : ไม่โลภเกินสิทธิ์, อพยาบาท : ไม่คิดอาฆาต และสัมมาทิฏฐิ : ไม่เห็นวิปลาสจากความจริง

: ชีวิตคนซื่อสัตย์อาจจะสั้น

: แต่ความสุจริตนั้นยืนยาว

3-10-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย