สมณบริโภค (บาลีวันละคำ 1,224)
สมณบริโภค
อ่านว่า สะ-มะ-นะ-บอ-ริ-โพก
ประกอบด้วย สมณ + บริโภค
(๑) “สมณ”
อ่านว่า สะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หรือแปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมณ-, สมณะ : (คำนาม) ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. ศฺรมณ).”
(๒) “บริโภค”
บาลีเป็น “ปริโภค” (ปะ-ริ-โพ-คะ) รากศัพท์มาจาก ปริ (รอบด้าน) + ภุชฺ (ธาตุ = กิน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ, แปลง ช เป็น ค
: ปริ + ภุชฺ + ณ = ปริภุชณ > ปริภุช > ปริโภช > ปริโภค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนใช้สอยรอบด้าน” หมายถึง การบริโภค, การใช้สอย, สิ่งที่ใช้สอย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปริโภค” ว่า –
(1) material for enjoyment, food, feeding (เครื่องบริโภค, อาหาร, โภชนะ)
(2) enjoyment, use (การบริโภค, การใช้สอย)
“ปริโภค” ภาษาไทยใช้ว่า “บริโภค”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บริโภค : (คำกริยา) กิน (ใช้เฉพาะอาการที่ทําให้ล่วงลําคอลงไปสู่กระเพาะ) เช่น บริโภคอาหาร, เสพ เช่น บริโภคกาม; ใช้สิ้นเปลือง, ใช้สอย, เช่น บริโภคสมบัติ, คู่กับ อุปโภค. (ป. ปริโภค).”
สมณ + ปริโภค = สมณปริโภค > สมณบริโภค ในคัมภีร์หมายถึง “เครื่องบริโภคใช้สอยของสมณะ” ในภาษาไทยขยายความไปถึงการบริโภคและใช้สิ่งของต่างๆ ที่ไม่ขัดต่อความเป็นสมณะ
คำว่า “สมณบริโภค” มักใช้ในข้อความที่เป็นคำปวารณาต่อพระสงฆ์ (คำยอมให้เรียกร้องหรือเรียกใช้เมื่อต้องการ) เช่น –
“ขอถวายปัจจัยสี่แด่พระคุณเจ้าเป็นมูลค่า….หากพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดอันสมควรแก่สมณบริโภค ขอได้โปรดเรียกร้องจากัปปิยการกของพระคุณเจ้านั้นเทอญ”
คำว่า “สมณบริโภค” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
: บริโภคอย่างชาวบ้าน มารชนะ
: บริโภคอย่างพระ ชนะมาร
5-10-58