จินดามณี (บาลีวันละคำ 1,241)
จินดามณี
(แก้วสารพัดนึก)
อ่านว่า จิน-ดา-มะ-นี
ประกอบด้วย จินดา + มณี
(๑) “จินดา”
บาลีเป็น “จินฺตา” (จิน-ตา) รากศัพท์มาจาก จินฺตฺ (ธาตุ = คิด) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: จินฺตฺ + อ = จินฺต + อา = จินฺตา แปลตามศัพท์ว่า “การคิด” (“the act of thinking”) หมายถึง ความคิด (thought)
(๒) “มณี”
บาลีเป็น “มณิ” (ภาษาไทยสระ อี บาลีสระ อิ แต่ที่เป็น “มณี” เหมือนในภาษาไทยก็มีบ้าง) รากศัพท์มาจาก –
(1) มนฺ (ธาตุ = รู้, พินาศ) + อิ ปัจจัย, แปลง น เป็น ณ
: มนฺ + อิ = มนิ > มณิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ให้รู้ถึงความมีค่ามาก” (หมายถึงเป็นของที่มีค่ามาก) (2) “สิ่งที่ยังความมืดให้พินาศไป” (ธรรมชาติของมณีจะมีแสงในตัว)
(2) มา (ธาตุ = นับถือ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ, ลบ อา ที่ธาตุ (มา > ม) + อิ ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: มา > ม + ยุ > อน = มน + อิ = มนิ > มณิ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นเหตุให้นับถือเครื่องอาภรณ์” (หมายถึงทำให้เครื่องประดับมีคุณค่า)
“มณิ” หรือ “มณี” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) รัตนะ, เพชรพลอย (a gem, jewel)
(2) แก้วผลึกที่ใช้เป็นแก้วสำหรับจุดไฟจากแสงอาทิตย์ (a crystal used as burning-glass)
จินฺตา + มณิ = จินฺตามณิ > จินดามณี
“จินฺตามณิ” ในภาษาบาลีมีความหมาย 2 นัย คือ:
(1) สพฺพกามท = แก้วที่บันดาลสิ่งที่ปรารถนาให้ได้ทุกอย่าง ที่เราเรียกกันว่า แก้วสารพัดนึก
(2) ปรจินฺตวิชฺชา = ศาสตร์แขนงหนึ่งที่สามารถทายใจคนได้ มีค่าเปรียบได้กับแก้วสารพัดนึก
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จินฺตามณิ” ว่า the jewel of thought, the true philosopher’s stone, magic stone (จินดามณี, แก้วสารพัดนึก)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จินดามณี : (คำนาม) แก้วอันให้ผลแก่เจ้าของตามใจนึก, แก้วสารพัดนึก; ชื่อตำราแบบเรียนหนังสือไทยโบราณ เช่น จินดามณีฉบับพระโหราธิบดีแต่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จินดามณีฉบับไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง ในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ จินดามณีฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิทแต่งในสมัยรัตนโกสินทร์. (ป., ส.).”
: นึกอะไรได้สำเร็จเสร็จทุกราย
: นึกให้เกิดแล้วไม่ตายไม่ได้เลย
22-10-58