บันไดสวรรค์ (บาลีวันละคำ 1,247)
บันไดสวรรค์
คัมภีร์ ปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ปริจเฉทที่ ๒๔ เทโวโรหนปริวรรต บรรยายความไว้ตอนหนึ่งว่า –
………
ท้าวโกสีย์ก็นฤมิตซึ่งบันไดทิพย์ทั้ง ๓ ลงจากเทวโลก คือบันไดทองอยู่ ณ เบื้องขวา บันไดเงินอยู่ ณ เบื้องซ้าย บันไดแก้วประดิษฐานอยู่ในท่ามกลาง แลเชิงบันไดทั้ง ๓ นั้นลงจดพื้นภูมิภาคปฐพี ณ ที่ใกล้เมืองสังกัสสนคร แลศีรษะบันไดเบื้องบนจดยอดเขาพระสิเนรุราชอันเป็นที่ตั้งแห่งดาวดึงส์พิภพ แลบันไดทองซ้ายขวานั้นเป็นที่ลงแห่งหมู่เทพยดาอันจะตามส่งเสด็จ บันไดเงินนั้นเป็นที่ลงแห่งหมู่พรหมทั้งหลายอยู่ฝ่ายวามภาค บันไดแก้วในท่ามกลางนั้นเป็นทางเสด็จพระสัพพัญญู
………
เหตุการณ์นี้เป็นที่มาของประเพณี “ตักบาตรเทโว” (ตัดมาจากคำว่า “เทโวโรหณะ”)
มีผู้สงสัยว่า บันไดสวรรค์ ตามที่บรรยายไว้นี้มีจริงหรือ
คำไทยที่ว่า “บันไดสวรรค์” นี้ ในคัมภีร์ท่านใช้คำว่า “สคฺคาโรหณโสปาน” (สัก-คา-โร-หะ-นะ-โส-ปา-นะ) ประกอบด้วยคำว่า สคฺค (สวรรค์) + อาโรหณ (ทางขึ้น, การขึ้น) + โสปาน (บันได)
สคฺค + อาโรหน + โสปาน = สคฺคาโรหณโสปาน แปลตามศัพท์ว่า “บันไดอันเป็นเครื่องนำไปสู่สวรรค์”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สคฺคาโรหณโสปาน” ว่า the stairs leading to heaven
ถ้าเป็นบันไดสำหรับลงจากสวรรค์ตามเรื่องในคัมภีร์ ก็ตรงกับคำว่า “เทโวโรหณโสปาน” (เท-โว-โร-หะ-นะ-โส-ปา-นะ) ประกอบด้วยคำว่า เทว (สวรรค์) + โอโรหณ (ทางลง, การลง) + โสปาน (บันได)
เทว + โอโรหณ + โสปาน = เทโวโรหณโสปาน แปลตามศัพท์ว่า “บันไดอันเป็นเครื่องนำลงจากสวรรค์”
เทว + โอโรหณ = เทโวโรหณ แปลตามศัพท์ว่า “การลงจากเทวโลก” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ว่า descent of the gods
ในคัมภีร์ท่านแสดงหลักธรรมอันเป็นเสมือนบันไดไปสู่สวรรค์ไว้ว่า –
(1) ทานํ สคฺคสฺส โสปาณํ = ทาน-การให้ เป็นบันไดสวรรค์
(2) สีลสมํ สคฺคาโรหณโสปานํ นตฺถิ = บันไดสวรรค์ที่จะเสมอกับศีลเป็นไม่มี
เพราะฉะนั้น –
: อย่าถามใครว่าบันไดสวรรค์มีจริงหรือ
: จงถามตัวเองว่าจะบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนาได้จริงหรือ
28-10-58