ปราวนาตัวเองเป็นพุทธมามะกะ (บาลีวันละคำ 1,250)
ปราวนาตัวเองเป็นพุทธมามะกะ
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านโพสต์ของท่านผู้หนึ่งทางเฟซบุ๊กกล่าวถึงพฤติกรรมของพระสงฆ์บางพวกและชาวพุทธบางส่วน มีข้อความตอนหนึ่งว่า –
…….
… ในยุคนี้คนที่มีบัตรประชาชนเป็นพุทธจำนวนมากแปลไม่ออกเสียด้วยซ้ำว่าการปราวนาตัวเองเป็นพุทธมามะกะโดยกล่าวคำว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ซึ่งมีความหมายว่า ข้าพเจ้าขอยึดมั่น พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พระธรรมเป็นที่พึ่ง พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง คือการประกาศตัวตนที่จะไม่พึ่งสิ่งอื่นอีกแล้วนอกจากพระรัตนตรัย …
…….
คำที่น่าสนใจคือ “ปราวนาตัวเองเป็นพุทธมามะกะ”
คำว่า “ปราวนา” ถ้าไม่ใช่เพราะเขียนผิด ผู้เขียนก็คงตั้งใจจะพูดถึงคำว่า “ปวารณา” นั่นเอง
ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้ยินคนพูดคำว่า “ปวารณา” เป็น “ปราวนา” มาแล้ว แต่เพิ่งจะเคยเห็นว่ามีคนเขียนแบบนี้จริงๆ
คำนี้สะกด ป-วา– (-วา– ว แหวน) ไม่ใช่ ป-รา– (-รา– ร เรือ)
จำง่ายๆ ก็ได้ว่า ป-วาร– (-วา-ระ เช่น เรื่องนี้ควรเป็น “วาระแห่งชาติ”)
ไม่ใช่ ป-ราว– (เช่น ราวตากผ้า)
พยางค์ท้าย –รณา
ไม่ใช่ –วนา
–ณา ณ เณร
ไม่ใช –นา น หนู
ส่วนประกอบของคำ “ปวารณา” มาจาก ป (ทั่วไป, ข้างหน้า) + วรฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา, ห้าม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ, ทีฆะ อะ ที่ ว-(รฺ) เป็น อา (วรฺ > วาร), + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ป + วรฺ = ปวร + ยุ > อน = ปวรน > ปวารน > ปวารณ + อา = ปวารณา
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ปวารณา” ไว้ว่า –
1. ยอมให้ขอ, เปิดโอกาสให้ขอ
2. ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน, เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือน, ชื่อสังฆกรรมที่พระสงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า วันมหาปวารณา โดยภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณา คือ เปิดโอกาสให้กันและกันว่ากล่าวตักเตือนได้
ส่วน “พุทธมามะกะ” คำที่ถูก สะกดเป็น “พุทธมามกะ” อ่านว่า พุด-ทะ-มา-มะ-กะ
–มกะ ไม่ต้องมีสระ อะ ที่ –ม– (ภาษาไวยากรณ์ว่า ไม่ต้องประวิสรรชนีย์)
“พุทธ” (พุด-ทะ) หมายถึงพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธศาสนา
“มามกะ” (มา-มะ-กะ) รากศัพท์มาจาก มม (มะ-มะ, = ของฉัน, ของข้าพเจ้า) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ต้นศัพท์ (คือ ม-พยัญชนะตัวแรก) เป็น อา (มม > มาม)
: มม + ณฺวุ = มมณฺวุ > มมก > มามก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถือว่า (อันใดอันหนึ่ง) เป็นของฉัน”
“พุทธมามกะ” แปลว่า “ผู้ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นของฉัน” หมายถึงผู้นับถือพระพุทธศาสนา
ข้อความที่ว่า “ปราวนาตัวเองเป็นพุทธมามะกะ” (สะกดที่ถูกต้อง: “ปวารณาตัวเองเป็นพุทธมามกะ”) ผู้เขียนคงตั้งใจจะให้มีความหมายว่า ประกาศตัวเองว่าเป็นพุทธมามกะ หรือแสดงตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ
คำว่า “ปวารณา” หมายถึง เปิดโอกาสให้ขอ หรือยอมให้ตักเตือน (1. invitation; giving occasion or opportunity; allowance. 2. invitation to ask. 3. invitation to speak)
คำที่มีความหมายว่า “ประกาศตัวเองว่าเป็น–” บาลีใช้คำว่า “ปฏิญฺญา” (ปะ-ติน-ยา) แปลตามศัพท์ว่า “การรู้เฉพาะ” หมายถึง การรับรู้, การเห็นด้วย, การสัญญา, การปฏิญาณ, การยินยอม, การอนุญาต (acknowledgment, agreement, promise, vow, consent, permission)
“ปฏิญฺญา” มีความหมายใกล้กับคำที่เอามาใช้ในภาษาไทยว่า “ปฏิญาณ” เช่นในคำว่า “ทหารกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล”
“ปราวนาตัวเองเป็นพุทธมามะกะ”
ถ้าเขียนใหม่ให้ตรงกับความหมายที่ต้องการ ก็น่าจะเขียนว่า
“ปฏิญาณตนว่าเป็นพุทธมามกะ”
: ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือรู้ว่าตัวเองยังไม่รู้
31-10-58