บาลีวันละคำ

กฐินสามัคคี [3] (บาลีวันละคำ 1,252)

กฐินสามัคคี [3]

ผิดจนถูกไปอีกคำหนึ่ง

(๑) “กฐิน” ภาษาไทยอ่านว่า กะ-ถิน บาลีอ่านว่า กะ-ถิ-นะ

คำว่า “กฐิน” ถ้าเป็นคำนาม แปลว่า “ไม้สะดึง” คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร (a wooden frame used in sewing the robes) ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า แข็ง, แนบแน่น, ไม่คลอนแคลน, หนัก, หยาบกร้าน, โหดร้าย (hard, firm, stiff, harsh, cruel)

ในที่นี้ “กฐิน” หมายถึงผ้าที่มีผู้ถวายแก่ภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาครบสามเดือนแล้วเพื่อผลัดเปลี่ยนจีวรชุดเดิม มีพระพุทธานุญาตให้สงฆ์ยกผ้านั้นให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งที่จำพรรษาอยู่ด้วยกันเพื่อทำเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง โดยภิกษุทั้งหมดที่จำพรรษาร่วมกันนั้นต้องช่วยกันทำเพื่อแสดงถึงความสามัคคี

(๒) “สามัคคี” บาลีเขียน “สามคฺคี” แปลตามศัพท์ว่า (1) “ความเป็นผู้ดำเนินไปในสมะ” (“สม” (สะ-มะ) หมายถึง เท่ากัน, เหมาะกัน, อย่างเดียวกัน, เที่ยงธรรม, ซื่อตรง, มีจิตใจไม่วอกแวก, ยุติธรรม, รวมเข้าด้วยกัน, ครบถ้วน) (2) “มารวมกันโดยมีเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สามัคคี : (คำนาม) ความพร้อมเพรียงกัน, ความปรองดองกัน.ว. ที่พร้อมเพรียงกันทำ, ที่ร่วมมือร่วมใจกันทำ, เช่น กฐินสามัคคี ผ้าป่าสามัคคี. (ป.; ส. สามคฺรี).”

กฐิน” เป็นภาษาบาลี “สามัคคี” ก็เป็นภาษาบาลี

กฐิน + สามัคคี = กฐินสามัคคี เขียนอย่างคำไทย อ่านอย่างคำไทย

คำนี้ไม่มีปัญหาในการเขียนและอ่าน แต่มีปัญหาในการทำความเข้าใจ

กฐินสามัคคี” มีมูลเหตุมาจากกรณีต่อไปนี้ คือ –

1. มีผู้ต้องการจะทอดกฐินที่วัดเดียวกันหลายราย

2. แต่ละรายสามารถทอดได้ตามลำพัง ไม่จำเป็นต้องร่วมกับใคร หรือไปหาใครมาร่วม

3. ปกติ ใครมาจองก่อน ก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าภาพแต่เพียงรายเดียว แต่กรณีนี้คือมาจองพร้อมกันหลายราย แต่ละรายจึงมีสิทธิ์ที่จะได้เป็นเจ้าภาพเท่ากัน และไม่มีรายไหนยอมถอนตัว

4. แต่กฎกติกาของกฐินมีอยู่ว่า “เจ้าภาพทอดกฐินต้องมีรายเดียว เมื่อรายหนึ่งทอดแล้ว รายอื่นๆ จะทอดอีกไม่ได้

5. ทางออกคือทำอย่างไร จับฉลาก ? หรือประมูลกันว่าใครจะถวายบริวารกฐิน (เช่นเงินบำรุงวัด) มากกว่ากัน ? หรือต่อยกันให้รู้แล้วรู้รอด ใครชนะได้เป็นเจ้าภาพ ? ฯลฯ

6. ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน ในที่สุดก็ได้ทอดกฐินเพียงรายเดียว รายอื่นๆ อดทอด

7. จึงเป็นที่มาของ “กฐินสามัคคี” คือทุกรายพร้อมใจกันรวมตัวให้เป็นรายเดียว แล้วเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ก็ได้ทอดกฐินด้วยกันหมดทุกราย

นี่คือความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “กฐินสามัคคี

กฐินสามัคคี” จึงไม่ได้หมายความว่า มีใครจองขอเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน แล้วก็ไปเที่ยวชักชวนญาติสนิทมิตรสหายแบ่งสายกันบอกบุญร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ดังที่นิยมทำกันอยู่ แล้วก็เรียกกันว่า “กฐินสามัคคี

คนทั่วไปมักเข้าใจคำว่า “กฐินสามัคคี” ตามความหมายนี้ และกำลังจะกลายเป็นความหมายที่ถูกต้องไปอีกคำหนึ่ง

: ผิดแล้วปล่อยตามเลย – จัญไร

: ผิดแล้วแก้ไข – เจริญ

2-11-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย