พละกำลัง (บาลีวันละคำ 1,261)
พละกำลัง
คำบาลีประสมคำไทย
อ่านว่า พะ-ละ-กำ-ลัง
(๑) “พล”
บาลีอ่านว่า พะ-ละ รากศัพท์มาจาก พลฺ (ธาตุ = มีชีวิต, ระวัง, ครอบงำ) + อ ปัจจัย
: พล + อ = พล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้” “ผู้เฝ้าระวัง” “ผู้ครอบงำศัตรู”
“พล” ใช้ในความหมาย 2 อย่างคือ –
(1) ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force)
(2) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)
(๒) “กำลัง”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กำลัง : (คำนาม) แรง, สิ่งที่ทำให้เกิดอำนาจความเข้มแข็ง.”
พจน.54 ไม่ได้บอกว่า “กำลัง” มาจากภาษาอะไร
ในภาษาไทยมีคำว่า “พลัง” อ่านว่า พะ-ลัง
คำว่า “พล” ในบาลีถ้าแจกรูปเป็น “พลํ” ก็อ่านว่า พะ-ลัง
“พลัง” น่าจะมาจาก “พลํ”
และ “กำลัง” ก็น่าจะเพี้ยนมาจาก “พลัง” นั่นเอง
พจน.54 บอกว่า –
“พลัง : (คำวิเศษณ์) กําลัง, มักใช้พูดเข้าคู่กันว่า กําลังพลัง.”
พจน.54 บอกว่า “พลัง” มักใช้พูดเข้าคู่กันว่า “กําลังพลัง” แต่เท่าที่สังเกต เรามักพูดเข้าคู่กันว่า “พละกำลัง” มากกว่า เช่น ช้างเป็นสัตว์ที่มีพละกำลังมหาศาล
คำว่า “พละกำลัง” ยังไม่มีเก็บไว้ใน พจน.54
ในคัมภีร์อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 117 แสดงสิ่งที่เป็น “พละกำลัง” ของบุคคลต่างๆ 8 จำพวกไว้อย่างสนใจ ขอถอดความตามสำนวนของผู้เขียนบาลีวันละคำ ดังนี้ –
(1) โรณฺณพลา ทารกา = การร้องไห้ เป็นกำลังของเด็กอ่อน
(2) โกธพลา มาตุคามา = ความแง่งอน เป็นกำลังของสตรี
(3) อาวุธพลา โจรา = อาวุธดี เป็นกำลังของคนร้าย
(4) อิสฺสริยพลา ราชาโน = อำนาจชี้เป็นชี้ตาย เป็นกำลังของนักปกครอง
(5) อุชฺฌตฺติพลา พาลา = ความจองหอง เป็นกำลังของคนพาล
(6) นิชฺฌตฺติพลา ปณฺฑิตา = ความประพฤติควรแก่การย์ เป็นกำลังของบัณฑิต
(7) ปฏิสงฺขานพลา พหุสฺสุตา = ความเพ่งพินิจ เป็นกำลังของผู้คงแก่เรียน
(8) ขนฺติพลา สมณพฺราหฺมณา = ความอดทนพากเพียร เป็นกำลังของนักพรต
——–
: ละอาสวกิเลสได้ทั้งหมด ก็อยู่เหนือพละกำลังทั้งมวล
11-11-58