ภาคี (บาลีวันละคำ 1,260)
ภาคี
บาลีและไทยใช้รูปเดียวกัน อ่านว่า พา-คี
“ภาคี” ประกอบด้วย ภาค + อี ปัจจัย
(๑) “ภาค” อ่านว่า พา-คะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ภชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ภ-(ชฺ) เป็น อา, แปลง ช เป็น ค
: ภชฺ + ณ = ภชณ > ภช > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จำแนกผลดีหรือไม่ดีให้มากขึ้น”
(2) ภชฺ (ธาตุ = เสพ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ภ-(ชฺ) เป็น อา, แปลง ช เป็น ค
: ภชฺ + ณ = ภชณ > ภช > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลเสพ”
(3) ภาชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ช เป็น ค
: ภาชฺ + ณ = ภาชณ > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาแบ่งออก”
“ภาค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :
(1) ส่วน, ภาค, อนุภาค, ส่วนแบ่ง (part, portion, fraction, share)
(2) ส่วน (ของเงิน) ที่แบ่งให้, ค่าธรรมเนียม, ค่าจ้างรางวัล (apportioned share (of money), fee, remuneration)
(3) ส่วนของพื้นที่, สถานที่, ภูมิภาค (division of space, quarter, side, place, region)
(4) ส่วนของเวลา, เวลา (division of time, time)
ในที่นี้ “ภาค” ใช้ในความหมายว่า “ส่วน” ตามข้อ (1)
(๒) ภาค + อี ปัจจัยในตัทธิต (ตัทธิต : ศัพท์จำพวกหนึ่งที่ลงปัจจัยแทนความหมายต่างๆ) อี-ปัจจัย ในที่นี้มีความหมายว่า “มี”
: ภาค + อี = ภาคี
รูปวิเคราะห์ (กระบวนการแยกส่วนประกอบเพื่อหาความหมาย) ของ “ภาคี” คือ –
ภาโค อสฺส อตฺถีติ ภาคี : ส่วนของผู้นั้นมีอยู่ ดังนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า “ภาคี = ผู้มีส่วน”
ภาคี เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง ผู้มีส่วนร่วม มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าเป็นพวกเป็นฝ่ายในเรื่องนั้นๆ ในกิจนั้นๆ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภาคี” ว่า sharing in, partaking of, endowed with; getting, receiving (มีส่วนแบ่งหรือเข้าร่วม, เข้าไปร่วม, เพียบพร้อมด้วย-; ได้มา, ได้รับ)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภาคี : (คำนาม) ผู้มีส่วน, ผู้เป็นฝ่าย. (ป.; ส. ภาคินฺ).”
คำร้องขอจากภาคี –
: ถ้ามีส่วนเมื่อยามสุข
: ถึงยามทุกข์วานอย่าทิ้งกัน
10-11-58