บาลีวันละคำ

กัปปิยการก (บาลีวันละคำ 1,274)

กัปปิยการก

อ่านว่า กับ-ปิ-ยะ-กา-รก

ประกอบด้วย กัปปิย + การก

(๑) “กัปปิย

บาลีเขียน “กปฺปิย” อ่านว่า กับ-ปิ-ยะ ประกอบขึ้นจาก กปฺป + อิย ปัจจัย

(1) กปฺป รากศัพท์มาจาก กปฺป (ธาตุ = กำหนด) + ปัจจัย

: กปฺป + = กปฺป แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดขึ้น

(2) กปฺป + อิย = กปฺปิย มีความหมายว่า เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ (fitting, suitable, proper)

(๒) “การก

บาลีอ่านว่า กา-ระ-กะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ยืดเสียง อะ ที่ต้นธาตุ เป็น อา ตามกฎของปัจจัยที่เนื่องด้วย (กรฺ > การ)

: กรฺ + ณฺวุ > อก = กรก > การก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำ” (the doer)

กปฺปิย + การก = กปฺปิยการก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้สมควร” “ผู้ทำสิ่งที่เหมาะสม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กปฺปิยการก” ว่า “one who makes it befitting,” i. e. who by offering anything to a Bhikkhu, makes it legally acceptable (“กัปปิยการก”, คือผู้อุปัฏฐากพระภิกษุ, ผู้ทำสิ่งที่สมควร)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

กัปปิยการก (Kappiyakāraka) one who makes things suitable for a monk; attendant of a monk.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

กัปปิยการก : ผู้ทำของที่สมควรแก่สมณะ, ผู้ทำหน้าที่จัดของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภค, ผู้ปฏิบัติภิกษุ, ลูกศิษย์พระ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กัปปิยการก : (คำนาม) ผู้ปฏิบัติภิกษุในเรื่องปัจจัย ๔ คือ จีวร อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค.”

กิจบางอย่างภิกษุทำเองไม่ได้เพราะมีวินัยห้ามไว้ เช่นการรับ-จ่ายเงิน คฤหัสถ์ที่มีกุศลจิตประสงค์จะสงเคราะห์ภิกษุให้ได้รับความสะดวก จึงอาสาเข้าไปทำกิจนั้นๆ แทนภิกษุ บุคคลเช่นนี้แหละเรียกว่า “กัปปิยการก

ในวงกว้าง “กัปปิยการก” จึงหมายถึงผู้ทำสิ่งที่ยังไม่ถูกต้องให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น

………..

สพฺพตฺถ  สุลโภ  นินฺที

ปจฺจการี  จ  ทุลฺลโภ.

: คนชอบติ หาได้ในที่ทั่วไป

: คนชอบแก้ไข หายากหาเย็น

24-11-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย