บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ถ้ารู้ทันสิ่งที่เขาทำ

ถ้ารู้ทันสิ่งที่เขาทำ 

——————-

ก็ไม่ต้องถามว่าเขาชื่ออะไร

สืบเนื่องมาจากบทความเรื่อง “มีกูต้องไม่มีมึง” ที่ผมโพสต์ลงไปเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ มีญาติมิตรร่วมแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง

มีญาติมิตรท่านหนึ่งแสดงความเห็นว่า 

ไม่รู้ว่าเกิดเหตุเมื่อไร ปีไหน ภาพประกอบก็ไม่บ่งชี้ แล้วจะไปทำอะไรได้ นอกจากสร้างความเกลียดชัง (Dorne Tipnant ๑๘ พ.ย.๕๘)

และอีกท่านหนึ่งว่า

สมัยไหนครับ ขอให้ชัดเจนเพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อน เข้าใจผิดครับ (Wiwat Khwan ๑๙ พ.ย.๕๘)

————-

ขออนุญาตเรียนชี้แจงเป็นส่วนรวมเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันนะครับ

เรื่องเดิมก็คือผมสรุปผลการศึกษาส่วนตัวถึงบุคลิกท่าทีของศาสนาต่างๆ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นศาสนาในประเทศของเรา (ดูโพสต์เรื่อง “ทำหน้าที่อย่างรู้เท่าทัน” วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘) เฉพาะศาสนาอิสลามสรุปเป็นบุคลิกได้ว่า “มีกูต้องไม่มีมึง”

และบอกไว้ว่า ถ้ามีโอกาสผมจะเล่าเรื่องจริงให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง – เรื่องจริงที่พิสูจน์ว่า : มีกูต้องไม่มีมึง

บทความเรื่อง “มีกูต้องไม่มีมึง” เป็นเรื่องที่เอามาเล่าให้ฟังตามที่บอกไว้

เจตนาของการนำเรื่องนี้มาเล่าก็เพื่อเสนอพฤติการณ์หรือการกระทำที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า คำว่า “มีกูต้องไม่มีมึง” นั้นคือการกระทำอย่างไร 

ไม่ใช่ต้องการจะให้ใครเกลียดใคร 

พูดชัดๆ ว่า ให้พิจารณาที่การกระทำของเขา โดยไม่ต้องคำนึงว่าเขาเป็นใคร

————

เวลาเราแสดงความเห็นต่อกรณีใดๆ เรามักอดไม่ได้ที่จะเอาตัวบุคคลเข้ามาเป็นตัวร่วม บางทีกลายเป็นตัวหลัก แล้วเลยเพ่งเล็งไปที่ตัวเขา แทนที่จะให้น้ำหนักไปที่การกระทำของเขา

ถ้าคนทำเป็นญาติ เป็นเพื่อนร่วมรุ่น เป็นคนที่เราสนิทสนมด้วย ความผูกพันกับตัวบุคคลก็จะไปถ่วงน้ำหนักของการกระทำ ทำให้มองการกระทำของเขาแบบเบี่ยงเบนหรือพร่ามัว ผิดก็เห็นเป็นไม่ผิด หรือเห็นเป็นถูกไป

ในทางตรงกันข้าม ถ้าคนทำเป็นคนที่เราไม่ชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ผิดก็เห็นเป็นผิด ผิดน้อยก็เห็นเป็นผิดมาก ผิดมากก็เห็นเป็นเรื่องร้ายแรงใหญ่โต

………..

ถ้าการกระทำนั้นผิด ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำก็ต้องผิดทั้งนั้น

ถ้าการกระทำนั้นถูก ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำก็ต้องถูกทั้งนั้น

หลักกลางๆ ควรเป็นอย่างนี้

………..

เทียบให้เข้าใจชัด-ก็เหมือนที่พูดว่า ถ้าคำแนะนำนั้นถูกต้อง ก็ไม่จำเป็นต้องสนใจว่าใครเป็นคนให้

แต่ส่วนมากเรามักตกหลุมอคติ คือให้ความสำคัญแก่ตัวคนให้คำแนะนำมากกว่าคำแนะนำของเขา 

จึงปรากฏว่า ถ้าคนนี้แนะนำ แม้จะไม่ดีไม่ถูกต้อง ก็พร้อมที่จะทำตาม 

แต่ถ้าคนโน้นแนะนำ แม้จะดีจะถูกต้องแค่ไหน ก็ไม่เอาด้วย

————

กรณีที่นำมาเล่านั้น ควรพิจารณาไปที่เนื้อตัวของการกระทำและเหตุผลที่กระทำว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่เป็นประเด็นหลัก ใครเป็นคนทำเป็นประเด็นรอง

แต่จะว่าไม่ต้องสนใจว่าใครเป็นคนทำเสียทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะถึงอย่างไรตัวคนทำก็ยังต้องมีความสำคัญอยู่นั่นเอง 

ในเรื่องที่เล่า ก็จึงได้บอกไว้ว่า คนทำเป็นนายทหารผู้ใหญ่ และเป็นมุสลิม 

ในกรอบความคิดของผมนั้นเห็นว่า แค่รู้สถานภาพของคนทำเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาถึงสิ่งที่เขาทำ 

อีกประการหนึ่ง เรื่องนี้มิได้มีเจตนาจะให้เอาโทษเอาผิดกับตัวคนทำเหมือนการลงโทษทางกฎหมายหรือระเบียบวินัยซึ่งจะต้องระบุตัวผู้จะต้องได้รับโทษให้ชัดเจน 

เพราะฉะนั้นก็จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องระบุตัวผู้ทำ ทั้งเป็นการตัดทางที่จะก่อให้เกิดอคติต่อตัวบุคคลโดยไม่จำเป็น

เราเพียงต้องการแสดงออกและยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนั้นไม่ว่าใครจะเป็นคนทำ ในขณะเดียวกันตัวคนทำกับเราก็ยังควรจะมีไมตรีจิตต่อกันได้ตามปกติในฐานะเพื่อนมนุษย์

สำหรับท่านที่ต้องการหลักฐาน ผมขอบอกเพิ่มเติมไว้ในที่นี้ว่า เหตุการณ์ตามที่นำมาเล่านั้นเกิดขึ้นที่โรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เวลา ๐๙:๓๐ น.

————

ผมเขียนไว้ในบทความนั้นว่า

……..

การทำความจริงให้ปรากฏนี้ ไม่ได้แปลว่าจะต้องรังเกียจหรือเกลียดชังกันและกัน

ตรงกันข้าม เราควรจะรักกันให้มากขึ้น 

ตั้งเจตนาดีต่อกันให้มากขึ้น

และหากใครมีเจตนาร้ายต่อกันก็ควรลด ละ เลิกเจตนาร้ายนั้นเสียให้สิ้นเชิง

……..

ตอนจบของบทความเรื่องนั้นผมเขียนไว้ว่า

……..

จงเป็นมิตรกับศาสนิกทุกศาสนาด้วยความจริงใจไร้มารยา

อย่าเกลียดชังเขาแม้จะรู้ว่าเขากำลังคิดทำร้ายเรา

แต่จงมีสติ รู้เท่าทัน ทำสิ่งที่ควรทำ และไม่ประมาทอยู่ทุกลมหายใจโดยทั่วกัน เทอญ

————

หมายเหตุ:

ภาพประกอบบทความวันนี้เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่พูดถึงเรื่องซึ่งผมนำมาเล่าไว้อย่างละเอียด

ผู้ต้องการรู้รายละเอียด วันเวลา สถานที่ และตัวบุคคล สามารถตามไปอ่านดูได้ 

อาจจะขลุกขลักบ้างก็ตรงที่หนังสือเล่มนี้ไม่แพร่หลาย เนื่องจากข้อจำกัดทางทุนทรัพย์ในการพิมพ์

นี่เป็นข้อเท็จจริงที่น่าวังเวงใจอีกเรื่องหนึ่ง คือชาวพุทธเราทำงานกันอย่างคนอนาถา

เราได้แต่พูดว่า “เราต้องร่วมมือกัน เราต้องร่วมมือกัน”

แต่การร่วมมือกันคือทำอย่างไร ใครจะเป็นคนทำ เราไม่รู้

เราอาจจะตอบได้ว่า ก็เราทุกคนนั่นแหละที่จะต้องช่วยกันทำ

แต่ไหนล่ะคือการช่วยกันทำ ?

มีใครช่วยกันทำอยู่ที่ไหนบ้าง ?

ธรรมชาติของการร่วมมือกันก็คือ ต้องมีผู้นำ

เวลานี้ชาวพุทธในเมืองไทยขาดผู้นำโดยสิ้นเชิง

ผมจึงพูดเสมอๆ และขอพูดไว้ในที่นี้อีกว่า ใครมีสติปัญญาทำอะไรได้ ก็ลงมือทำไปเถอะครับ รวมทั้งการทำให้คนมาร่วมมือกันนั่นด้วย ใครสามารถทำได้ก็ทำเลย อย่าเอาแต่รอและเรียกร้องให้คนอื่นทำอย่างเดียว

ถ้าถึงที่สุด เรารักษาแผ่นดินพระพุทธศาสนาเอาไว้ไม่ได้ เราก็ยังอิ่มใจว่าได้ทำหน้าที่ของเราจนสุดกำลังแล้ว 

ถ้าเทพยดาอารักษ์ที่รักษาพระศาสนาท่านจะตำหนิใครว่าไม่รับผิดชอบ เราก็คงเป็นคนหนึ่งที่ท่านตำหนิได้ไม่เต็มปาก-แค่นั้นก็ดีแล้วสำหรับเรา

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

๑๓:๑๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *