บาลีวันละคำ

ศูนย์-สูญ (บาลีวันละคำ 648)

ศูนย์-สูญ

อ่านว่า สูน

สันสกฤตเป็น “ศูนฺย” (สูน-ยะ)

บาลีเป็น “สุญฺญ” (สุน-ยะ)

สุญฺญ” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เกื้อกูลแก่การไป” (คือทำให้ไม่ติดขัด) “สิ่งที่ถึงความว่างเปล่า

– ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ว่างเปล่า, ไม่มีคนอยู่, สูญ, ไม่จริงจัง, ไม่มีแก่นสาร, ไม่มีประโยชน์, เป็นปรากฏการณ์ (empty, uninhabited, void, devoid of reality, unsubstantial, useless, phenomenal)

– ใช้เป็นคำนาม หมายถึง ความสูญ, ความว่างเปล่า, ความเหือดหาย (void, emptiness, annihilation)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศูนฺย : (คุณศัพท์) ว่างเปล่า; เปลี่ยวเปล่า; empty or void; lonely or desert;- (คำนาม) ฟ้า, อากาศ, ที่ว่างเปล่าหรือไม่มีวัตถุธาตุ; จุด; เลขศูนย์; อภาวะ; sky, ether, vacuum; a spot or dot; a cipher; nothing”

ในภาษาไทย ใช้ทั้ง “ศูนย์” และ “สูญ” พจน.42 บอกไว้ว่า –

(1) ศูนย-, ศูนย์ : (คำวิเศษณ์) ว่างเปล่า.(คำกริยา) หายสิ้นไป. (คำนาม) ตัวเลข 0; จุดกลาง, ใจกลาง, แหล่งกลาง, แหล่งรวม, เช่น ศูนย์วัฒนธรรม ศูนย์หนังสือ ศูนย์รวมข่าว

(2) สูญ : (คำกริยา) ทําให้หายสิ้นไป เช่น คนโบราณใช้ปูนแดงสูญฝี, หายไป เช่น ทรัพย์สมบัติสูญไปในกองเพลิง. (คำวิเศษณ์) ที่หมดไป ในคำว่า หนี้สูญ

ข้อสังเกตในภาษาไทย และความรู้เสริม :

(1) ศูนย์ กับ สูญ ใช้ในความหมายตรงกันคือ ว่างเปล่า, หายไป, หมดไป

(2) แต่ที่หมายถึง ตัวเลข 0, จุดกลาง, ใจกลาง, แหล่งกลาง, แหล่งรวม ใช้ “ศูนย์” (สันสกฤต) ไม่ใช้ “สูญ” (บาลี)

(3) จุดกลาง ใจกลาง หรือศูนย์กลาง ตามข้อ (2) ตรงกับคำอังกฤษว่า centre หรือ center นักบาลีสมัยใหม่บางท่านบอกว่า centre หรือ center ตรงกับบาลีว่า “สนฺติก” (สัน-ติ-กะ) center – สนฺติก เสียงใกล้กัน

(4) พจน.บาลี-อังกฤษ แปล สนฺติก เป็นอังกฤษว่า vicinity, presence, into the presence of, towards ไม่ได้แปล สนฺติก ว่า center

(5) พจน.อังกฤษ-บาลี แปล center เป็นบาลีว่า majjha มชฺฌ (ตอนกลาง); vemajjha เวมชฺฌ (ศูนย์กลาง). mūlaṭṭhāna มูลฏฺฐาน (สถานที่ใกล้ชิด) ไม่ได้แปลว่า สนฺติก

(6) พจน.บาลี-อังกฤษ แปล “เวมชฺฌ” เป็นอังกฤษว่า centre

: ความดีของผู้ทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์ สูญไปแล้วตั้งแต่ยังไม่สูญ

: ชีวิตของผู้ทำดีอย่างบริสุทธิ์ แม้จะสูญไปก็ยังไม่สูญ

24-2-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย