บาตร-บิณฑบาต (บาลีวันละคำ 647)
บาตร-บิณฑบาต
(1) “บาตร” บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า –
1. “ภาชนะเป็นที่ตกลงแห่งข้าวสุก” หมายความว่า ข้าวสุก (= อาหาร) ตกลงไปในภาชนะชนิดนี้ จึงเรียกภาชนะนี้ว่า “ปตฺต”
2. “ภาชนะที่รักษาจากการตก” หมายความว่า (1) รักษา คือระวังไม่ให้ภาชนะนี้ตก เนื่องจากแต่เดิมบาตรทำด้วยดิน ตกแล้วแตก (2) รักษา คือรองรับอาหารที่ตกลงมาไม่ให้หล่นถึงพื้น แต่ให้ตกลงในภาชนะนี้
“ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” เราเขียนอิงสันสกฤต แต่ยืดเสียงเป็น “ปาตร” และแปลง ป เป็น บ ตามหลักนิยมที่คุ้นกัน คือ ป ปลา เป็น บ ใบไม้, ต เต่า เป็น ด เด็ก
: ปตฺต > ปตฺร > ปาตร > บาตร
ฝรั่งแปล ปตฺต = บาตร ว่า a bowl, esp. the alms-bowl of a bhikkhu.
พจน.42 บอกไว้ว่า –
“บาตร : ภาชนะชนิดหนึ่งสําหรับภิกษุสามเณรใช้รับอาหารบิณฑบาต”
(2) “บิณฑบาต” บาลีเป็น “ปิณฺฑปาต” (ปิน-ดะ-ปา-ตะ) ประกอบด้วย ปิณฺฑ + ปาต
“ปิณฺฑ” แปลว่า – (1) ก้อน, ก้อนกลม, มวลที่หนาและกลม (a lump, ball, thick & round mass) (2) ก้อนข้าว โดยเฉพาะที่ถวายพระหรือให้ทาน, ทานที่ให้เป็นอาหาร (a lump of food, esp. of alms, alms given as food)
“ปาต” แปลว่า (1) การตก (fall) (2) การโยน, การขว้าง (throwing, a throw)
ปิณฺฑ + ปาต = ปิณฺฑปาต แปลตามศัพท์ว่า “การตกของก้อนข้าว” “การโยนก้อนข้าว” หมายถึง ทำอาหารให้ตกลงไปในบาตร, อาหารที่บิณฑบาตได้มา (alms-gathering, food received in the alms-bowl)
“ปิณฺฑปาต” ภาษาไทยใช้ว่า “บิณฑบาต” (ป แปลงเป็น บ) พจน.42 บอกไว้ว่า –
“บิณฑบาต : (คำนาม) อาหาร (ใช้แก่พระภิกษุสามเณร) เช่น รับบิณฑบาต. (คำกริยา) กิริยาที่พระภิกษุสามเณรรับของที่เขานํามาใส่บาตร, โดยปริยายหมายถึงกิริยาที่พระภิกษุสามเณรขอหรือขอร้อง เช่น เรื่องนี้ขอบิณฑบาตให้เลิกแล้วต่อกัน”
ข้อสังเกต –
1. “บาตร” มี ร เรือ เพราะศัพท์เดิมเป็น “ปตฺร” : ปตฺร > ปาตร > บาตร
2. “บิณฑบาต” –บาต ไม่มี ร เรือ เพราะศัพท์เดิมเป็น “-ปาต” (ไม่มี ร มาแต่เดิม)
คำเทียบเพื่อความเข้าใจและจำง่าย คือ สันนิบาต อสนีบาต –บาต นี้ก็ไม่มี ร เรือ เพราะศัพท์เดิมเป็น “-ปาต” เหมือน “บิณฑบาต” นั่นเอง
หมั่นตรวจตราหน้าที่ อย่าให้มีบกพร่อง –
: ออกบิณฑบาต เป็นหน้าที่ของเนื้อนาบุญ
: ใส่บาตรค้ำจุน เป็นหน้าที่ของเนื้อนาบ้าน
23-2-57