บาลีวันละคำ

โทรศัพท์ (บาลีวันละคำ 658)

โทรศัพท์

อ่านว่า โท-ระ-สับ

เทียบบาลีเป็น “ทูรสทฺท” อ่านว่า ทู-ระ-สัด-ทะ

ทูร” แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ไปถึงโดยยาก” หมายถึง ไกล, ห่าง, ที่ไกล (far, distant, remote) แปลง อู ที่ ทู เป็น โอ = โท : ทูร = โทร (โท-ระ)

สทฺท” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาพูดออกมา” “สิ่งเป็นเหตุให้รู้เนื้อความ” “สิ่งเป็นเหตุให้เป็นไปได้” (คือทำให้เกิดความสะดวกในการบอกกล่าวเรื่องราว)

ในภาษาบาลี “สทฺท” หมายถึง (1) เสียง, สำเนียง (sound, noise) (2) เสียงคน (voice) (3) คำ (word)

สทฺท” สันสกฤตเป็น “ศพฺท” (สับ-ทะ) เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ศัพท์” อ่านว่า สับ

: ทูร > โทร + สทฺท > ศพฺท = โทรสทฺท > โทรศพฺท >โทรศัพท์

ระวัง –ศัพท์ ทหาร การันต์ ไม่ใช่ ย ยักษ์

พจน.42 บอกไว้ว่า –

โทรศัพท์ : (คำนาม) ระบบโทรคมนาคมซึ่งใช้อุปกรณ์ทางไฟฟ้าเป็นเครื่องมือสื่อสารให้ติดต่อพูดถึงกันได้ในระยะไกลโดยใช้สายตัวนําโยงติดต่อถึงกัน และอาศัยอํานาจแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นหลักสําคัญ. (อ. telephone), คำว่าโทรศัพท์ที่อยู่หน้าหมายเลขโทรศัพท์มักเขียนย่อว่า โทร. ออกเสียงว่า [โท].(ภาษาปาก) (คำกริยา) พูดติดต่อกันทางโทรศัพท์”

โปรดสังเกตว่า “ทูร” เสียงใกล้กับ tele- ในคำว่า telephone

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล telephone เป็นบาลีว่า “ทูรภาสน (ยนฺต)” อ่านว่า ทู-ระ-พา-สะ-นะ (ยัน ตะ) แปลว่า “(เครื่องกลไกสำหรับ) พูดทางไกล”

ในภาษาไทย คำว่า “โทรศัพท์” ใช้เป็นทั้งคำนามและกริยา

1. เป็นคำนาม หมายถึง อุปกรณ์สำหรับการพูดติดต่อถึงกันได้ในระยะไกล

2. เป็นคำกริยา แปลว่า (1) พูดติดต่อกันทางโทรศัพท์ (2) มีสัญญาณติดต่อทางโทรศัพท์เรียกมา

โทรศัพท์ ถ้าเทียบกับอำนาจทางจิตก็คือ ทิพโสตหูทิพย์ นับเป็นฤทธิ์มหัศจรรย์อย่างหนึ่ง

: ถ้าพูดกันไม่เข้าใจ แม้จะได้ยินจากที่ไกล ก็ไม่อัศจรรย์

: อยู่ใกล้อยู่ไกล เข้าใจกันดี แม้ไม่เอ่ยวจี นี่สิน่าอัศจรรย์

6-3-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย