บาลีวันละคำ

คอมพิวเตอร์ (บาลีวันละคำ 659)

คอมพิวเตอร์

บาลีว่าอย่างไร

รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน เขียนไว้ว่า –

——-

ราชบัณฑิตยสถาน ได้นำศัพท์ คณิตกรณ์ พิมพ์ออกเผยแพร่ และให้ลองใช้กันดู ตามพระนโยบายของ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ที่ว่า “การใช้เท่านั้นจะเป็นเครื่องตัดสินว่าศัพท์ใดใช้ได้ ศัพท์ใดควรแก้ไข”

เวลาได้ผ่านไป 12 ปีแล้ว (2533-2545) ปรากฏว่า คำว่า คณิตกรณ์ ไม่ติด

มีแต่คนใช้ว่า คอมพิวเตอร์

——–

ข้อมูล :

(1) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

คอมพิวเตอร์ : เครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติ ทําหน้าที่เสมือนสมองกล ใช้สําหรับแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งที่ง่ายและซับซ้อน โดยวิธีทางคณิตศาสตร์. (คำอังกฤษ. computer)”

(2) พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกไว้ว่า –

computer n. : เครื่องคำนวณ, ผู้คำนวณ

compute vt., computation n. : คำนวณ, นับ

(3) พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล compute เป็นบาลีว่า คเณติ (คะ-เน-ติ); คณิต (คะ-นิ-ตะ) และแปล computation เป็นบาลีว่า ปมาณกรณ (ปะ-มา-นะ-กะ-ระ-นะ)

ปมาณกรณ” ถ้าเขียน “ปมาณกรณ์” (มีการันต์ที่ ณ์) อ่านแบบไทยว่า ปะ-มา-นะ-กอน แปลตามศัพท์ว่า “กระทำการนับ

(4) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คเณติ” (เป็นคำกริยา) ว่า to count, to reckon, to do sums (นับ, คำนวณ, บวกเลข)

คำว่า “คะเน” ในภาษาไทย ซึ่งมีความหมายว่า “กะ, คํานวณเอาอย่างหยาบ ๆ” น่าจะได้เค้ามาจาก “คเณติ ในบาลีนี่เอง

(5) “คณิต” ในบาลี ใช้เป็นคุณศัพท์หมายถึงสิ่งที่ถูกนับ, สิ่งที่ถูกกำหนดจำนวน

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า – “คณิต : การนับ, การคํานวณ, วิชาคํานวณ”

(6) “คณิตกรณ์” ที่ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติขึ้นแทนคำว่า computer นั้น อ่านว่า คะ-นิด-ตะ-กอน แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องทำการคำนวณ

(7) โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมที่แปลคำอังกฤษ compute- เป็นบาลี ก็มีคำแปลว่า “คณิต” และ “ปมาณกรณ์” แสดงให้เห็นว่าศัพท์บัญญัติคำนี้เป็นไปตามมาตรฐาน

ข้อคิดเห็น :

(1) ในระยะแรก เคยมีคำว่า “เครื่องคำนวณสมองกล” ทำท่าจะมีคนนิยมใช้อยู่พักหนึ่ง แต่แล้วก็ “ไม่ติด” อาจเป็นเพราะรูปคำเป็นไทยๆ และดาดๆ ไปหน่อย

คณิตกรณ์” งามทั้งรูป ทั้งเสียง แต่ทำไมจึง “ไม่ติด”

(2) เป็นเวลาประมาณ 30 ปีมาแล้วที่ภาษาไทยแทบจะไม่มี “ศัพท์บัญญัติ” ใหม่ๆ เกิดขึ้น เนื่องจากอิทธิพลภาษาอังกฤษท่วมทับเข้ามา คนไทยรุ่นใหม่ถนัดที่จะ “ทับศัพท์” มากกว่าที่จะบัญญัติศัพท์

(3) พร้อมกับการทับศัพท์นั่นเอง ก็มีการแปลงคำ กลายเสียง ก่อรูปศัพท์แปลกๆ แผลงๆ ขึ้นมาใช้พูดใช้เขียนแทนคำไทยงามๆ ที่เคยใช้กันมา คำเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุสั้น มีลักษณะหวือหวา ฮือฮา และขาดสุนทรียะ

(4) ในอนาคต คนไทยจะพัฒนาวิธีรับภาษาอังกฤษมาใช้ในภาษาไทยเพิ่มขึ้น จากการทับศัพท์หรือรับมาเป็นคำๆ ขยายขึ้นเป็นรับมาเป็นวลี เป็นประโยคสั้นๆ และค่อยๆ ยาวขึ้น เมื่อจะพูดเรื่องราวใดๆ ออกมา แทนที่จะคิดเป็นคำไทย ก็จะคิดเป็นคำฝรั่ง และสุดท้ายภาษาไทยจะกลายเป็นภาษาเผ่าโบราณที่ไม่ได้ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันอีกต่อไป

: ถ้าเริ่มต้นด้วยการขาดความภูมิใจในสมบัติของตนเอง

: ก็จะลงท้ายด้วยการไม่เหลืออะไรสักอย่างเดียวไว้ให้ภาคภูมิใจ

—————-

(ตามคำขอของพระคุณท่าน Burapa Anan)

7-3-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย