บาลีวันละคำ

อุตุนี (บาลีวันละคำ 686)

อุตุนี

(สืบเนื่องจากคำว่า อุตุ)

อ่านว่า อุ-ตุ-นี

ประกอบด้วย อุตุ + อินี

อุตุ” ในบาลีมีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) แปลตามศัพท์ว่า “กาลเวลาที่เป็นไปประจำ” “กาลเวลาเป็นที่เป็นไปแห่งหิมะเป็นต้น” หมายถึง ฤดูกาล, เวลา, อากาศ, อุณหภูมิ

(2) แปลตามศัพท์ว่า “โลหิตที่เป็นไปประจำ” หมายถึง ระดู, เลือดประจำเดือน

อุตุนี ในที่นี้มาจาก “อุตุ” ที่หมายถึง เลือดประจำเดือน

อุตุ + อินี ปัจจัยที่ทำศัพท์ให้เป็นอิตถีลิงค์ แบบเดียวกับ ภิกฺขุ + อินี = ภิกฺขุนี

: อุตุ + อินี = อุตุนี

อุตุนี” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีอุตุ” คือผู้มีเลือดประจำเดือน หมายถึง สตรีที่กำลังมีระดู (a menstruating woman)

ในพระไตรปิฎก (มหาตัณหาสังขยสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 12 ข้อ 452) พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปัจจัยหรือองค์ประกอบแห่งกำเนิดมนุษย์มี 3 อย่าง คือ –

(1) มาตาปิตโร  สนฺนิปติตา = บิดามารดาสันนิบาตกัน

(2) มาตา  อุตุนี = มารดาเป็นอุตุนี

(3) คนฺธพฺโพ  ปจฺจุปฏฺฐิโต = มีวิญญาณมาปฏิสนธิ

ข้อสังเกต :

(1) ในคัมภีร์ท่านใช้คำว่า มาตาปิตโร = บิดามารดาสันนิบาตกัน ไม่ได้ใช้คำว่า “ชายหญิงสันนิบาตกัน” ส่อนัยว่าผู้มีสิทธิ์สันนิบาตกันนั้นต้องเป็นสามีภรรยากัน หรืออีกนัยหนึ่งต้องเป็นผู้ที่พร้อมจะแสดงตนต่อสังคมว่า เป็น “บิดามารดา” ของเด็กที่เกิดมา และผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะแสดงตนเช่นนั้นก็คือชายหญิงที่เป็นสามีภรรยากันตามกติกาของสังคมนั่นเอง

(2) “มารดาเป็นอุตุนี” อรรถกถาขยายความว่า ช่วงเวลาที่มารดามีระดูนั้น รังไข่จะมีเวลารับเชื้อประมาณ 7 วัน ถ้ามีการสันนิบาตกันเพียงครั้งเดียวเท่านั้นภายใน 7 วันนี้ก็จะตั้งครรภ์ ถ้าไม่มีการสันนิบาตไข่ก็จะแตกไปเองและไหลออกมาเป็น “อุตุระดู” (เรื่องนี้อรรถกถาอธิบายไว้เมื่อประมาณ 1,500 ปีมาแล้ว)

(3) แม้องค์ประกอบ 2 อย่างจะสมบูรณ์แล้วก็ตาม แต่ถ้า “คนฺธพฺโพ” ไม่ “ปจฺจุปฏฺฐิโต” (= ไม่มีวิญญาณมาปฏิสนธิ) การตั้งครรภ์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ดังที่วิทยาการสมัยใหม่ให้เหตุผลไปในทำนองว่าเชื้อไม่แข็งแรงเป็นต้น

อุตุนี” จึงไม่ใช่คำธรรมดา

เพราะเป็นโซ่ห่วงหนึ่งในกระบวนการกำเนิดมนุษย์

พุทธภาษิต :

กิจฺโฉ  มนุสฺสปฏิลาโภ

กิจฺฉํ  มจฺจาน  ชีวิตํ

กิจฺฉํ  สทฺธมฺมสฺสวนํ

กิจฺโฉ  พุทฺธานมุปฺปโท.

(พุทธวรรค ธรรมบท)

เกิดเป็นมนุษย์ – ยาก

เกิดแล้วอยู่รอด – ยาก

รอดแล้วจะได้รับรู้สิ่งที่ดีงาม – ยาก

รับรู้แล้วจะเป็นคนดีได้จริง – ยาก

(แปลโดยอัตโนมัตยาธิบาย)

3-4-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย