บาลีวันละคำ

คิริพพชะ (บาลีวันละคำ 3,861)

คิริพพชะ

บาลีทั้งดุ้น

เมื่อไรจะคุ้น

ถ้าเอาแต่บ่นว่า-ไม่เห็นจะรู้เรื่อง

อ่านว่า คิ-ริบ-พะ-ชะ

แยกศัพท์เป็น คิริ + พชะ

(๑) “คิริ”

อ่านว่า คิ-ริ รากศัพท์มาจาก คิรฺ (ธาตุ = ไหลออก, คาย) + อิ ปัจจัย

: คิรฺ + อิ = คิริ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สถานที่คายสมุนไพรออกมา” (2) “สถานที่คายน้ำและตัวยาออกมา” หมายถึง ภูเขา (a mountain)

เราไม่คุ้นกับ “คิริ” ในบาลี แต่ถ้าบอกว่า ก็ “คีรี” ที่แปลว่าภูเขาอย่างไรเล่า หลายคนจะร้องอ๋อ ในภาษาไทยใช้เป็น “คีรี” น่าจะเป็นเพราะลิ้นไทยออกเสียง “คีรี” ง่ายกว่า “คิริ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“คีรี : (คำนาม) ภูเขา. (ป., ส. คิริ).”

(๒) “พชะ”

รูปคำเดิมในบาลีเป็น “วช” อ่านว่า วะ-ชะ รากศัพท์มาจาก วชฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย

: วชฺ + อ = วช (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เป็นไปแห่งพวกโค” (2) “ที่เป็นที่พวกโคไปเพื่ออยู่อาศัย”

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “วช” ว่า คอกวัว

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วช” ว่า a cattle-fold, cow-pen (ที่เลี้ยงปศุสัตว์, คอกวัว)

คิริ + วช แปลง ว เป็น พ, ซ้อน พฺ ระหว่างศัพท์

: คิรฺ + พฺ + วช > พช = คิริพฺพช (คิ-ริบ-พะ-ชะ) แปลตามศัพท์ว่า “-มีภูเขาเป็นคอก” โดยความหมายคือ มีภูเขาล้อมรอบ

“คิริพฺพช” เขียนแบบไทยเป็น “คิริพพชะ”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

…………..

“คิริพพชะ : “[เมือง]ที่มีภูเขาเป็นคอก”, เป็นชื่อหนึ่งของเมืองราชคฤห์ ซึ่งเรียกตามลักษณะที่อยู่ในวงล้อมของภูเขา ๕ ลูก คือ ปัณฑวะ คิชฌกูฏ เวภาระ อิสิคิลิ และเวปุลละ.”

…………..

ขยายความ :

คัมภีร์ปปัญจสูทนี ภาค 1 อรรถกถามัชฌิมนิกาย ตอนอธิบายอนังคณสูตฺร กล่าวถึงที่มาของชื่อ “คิริพพชะ” ไว้ดังนี้ –

…………..

ราชคเห วิหรามิ คิริพฺพเชติ ราชคหนฺติ ตสฺส นครสฺส นามํ ฯ สมนฺตโต ปน คิริปริกฺเขเปน วโช วิย สณฺฐิตตฺตา คิริพฺพชนฺติ วุจฺจติ ฯ

ที่มา: ปปัญจสูทนี ภาค 1 หน้า 258

…………..

แปล –

ราชคเห วิหรามิ คิริพฺพเชติ

คำว่า ราชคเห วิหรามิ คิริพฺพเช มีอธิบายว่า –

ราชคหนฺติ ตสฺส นครสฺส นามํ

คำว่า ราชคฤห์ เป็นชื่อของนครนั้น

สมนฺตโต ปน คิริปริกฺเขเปน วโช วิย สณฺฐิตตฺตา คิริพฺพชนฺติ วุจฺจติ

นครราชคฤห์คนเรียกกันว่า คิริพพชะ เพราะมีภูเขาตั้งล้อมอยู่โดยรอบเหมือนคอก

…………..

คัมภีร์ปรมัตถโชติกา ภาค 2 อรรถกถาสุตตนิบาต ตอนอธิบายปัพพชาสูตฺร กล่าวถึงที่มาของชื่อ “คิริพพชะ” ไว้ดังนี้ –

…………..

คิริพฺพชนฺติ อิทมฺปิ ตสฺส นามํ ฯ ตํ หิ ปณฺฑวคิชฺฌกูฏเวภารอิสิคิลิเวปุลฺลนามกานํ ปญฺจนฺนํ คิรีนํ มชฺเฌ วโช วิย ฐิตํ ฯ ตสฺมา คิริพฺพชนฺติ วุจฺจติ ฯ

ที่มา: ปรมัตถโชติกา ภาค 2 อรรถกถาสุตตนิบาต หน้า 272

…………..

แปล –

คิริพฺพชนฺติ อิทมฺปิ ตสฺส นามํ

คำว่า คิริพพชะ นี้เล่าก็เป็นชื่อของนครนั้น

ตํ หิ ปณฺฑวคิชฺฌกูฏเวภารอิสิคิลิเวปุลฺลนามกานํ ปญฺจนฺนํ คิรีนํ มชฺเฌ วโช วิย ฐิตํ

นครนั้นตั้งอยู่ในท่ามกลางภูเขา 5 ลูก อันได้นามว่า ปัณฑวะ 1 คิชฌกูฏ 1 เวภาระ 1 อิสิคิลิ 1 เวปุลละ 1 เหมือนเป็นคอก

ตสฺมา คิริพฺพชนฺติ วุจฺจติ

เพราะฉะนั้น จึงเรียกกันว่า คิริพพชะ (เมืองที่มีภูเขาเป็นคอก)

…………..

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่คำว่า “วช” ได้ยกตัวอย่างคำว่า “คิริพฺพช” (คิริ + วช) บอกความหมายว่าไว้ว่า a [cattle or sheep] run on the mountain (สถานที่ปล่อยให้ [ปศุสัตว์หรือฝูงแกะ] กินหญ้าอยู่บนภูเขา)

ส่วนที่คำว่า “คิริ” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ได้ยกคำว่า “คิริพฺพช” มาอธิบายเป็นความเห็นหลายอย่าง ขอนำต้นฉบับมาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อประกอบการศึกษา

คำแปลภาษาไทยนำมาจากพจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ ซึ่งใช้ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เป็นต้นฉบับ

…………..

Giribbaja:

[Etym. uncertain, according to Morris J.P.T.S. 1884, 79 to vaja “a pen,” cp. Marāthī vraja “a station of cowherds,” Hindi vraja “a cow — pen”; the Vedic giribhraj˚ (RV. x.68. 1) “aus Bergen hervorbrechend” (Roth) suggests relation to bhraj, to break=bhañj=Lat. frango]

คิริพฺพช:

[นิรุกติไม่แน่นอน, ตาม Morris J.P.T.S. 1884,79 วช “คอกสัตว์”, เทียบภาษามารถี วฺรช “สถานที่พักของคนเลี้ยงโค” ภาษาฮินดี วฺรช “คอกวัว”; ภาษาพระเวท คิริภฺรช “aus Bergen hervorbrechend” (Roth) ให้ความเห็นว่าเกี่ยวข้องกับ ภฺรชฺ, หัก = ภญฺชฺ = Lat. frango]

= giriguhā, a mountain cave or gorge, serving as shelter & hiding place J iii.479 (trsl. by Morris loc. cit. a hill — run, a cattle — run on the hills); v.260 (sīhassa, a lion’s abode) expld as kañcanaguhā ibid. (for kandara — guhā? cp. Kern, Toev. p. 130). S ii.185. Also N. for Rājagaha Sn 408; Dpvs v.5; in its Sk. form Girivraja, which Beal, Buddh. Records ii.149 expls as “the hill — surrounded,”

= คิริคุหา, ซอกเขาหรือถ้ำ ซึ่งเป็นที่กำบัง, สถานที่ซ่อนเร้น (Morris ตามที่อ้างมาแล้ว แปลเป็นทุ่งหญ้าบนเขา, เนินเขา, ที่เลี้ยงสัตว์บนภูเขา); (สีหสฺส, ที่อยู่ของราชสีห์) อธิบายเป็น กญฺจนคุหา (แทน กนฺทร-คุหา? เทียบ Kern, Toev. น.130). เป็นชื่อเรียกเมืองราชคฤห์ด้วย ในรูปสันสกฤตเป็น คิริวฺรช, ซึ่ง Beal, Buddh. Records 2/149 อธิบายเป็น “ภูเขาล้อมรอบ”

…………..

ความในใจ :

ที่ยกพจนานุกรมฝรั่งมาแสดงนี้ไม่ได้แปลว่าเก่งภาษาอังกฤษหรือต้องการจะอวดรู้ แต่ต้องการจะจุดประกายให้นักเรียนบาลีของไทยเราเกิดความคิด

ฝรั่งเรียนบาลีทีหลังเรา แต่เขาเรียนเพื่อเอาความรู้ไปค้นคว้าศึกษาคัมภีร์ เขาจึงค้นคว้าได้กว้างและได้มากกว่าเรา

ไทยเราแรกเริ่มก็เรียนบาลีเพื่อเอาความรู้ไปค้นคว้าศึกษาคัมภีร์เช่นกัน แต่เมื่อเกิดค่านิยมให้ศักดิ์และสิทธิ์แก่ผู้สอบได้ เป้าหมายการเรียนบาลีของเราก็เบี่ยงเบนไป มุ่งไปที่สอบได้ เมื่อได้ศักดิ์และสิทธิ์แล้วก็หยุดอยู่เพียงนั้น หาได้เอาความรู้ไปค้นคว้าศึกษาคัมภีร์ต่อไปอีกไม่

การเรียนบาลีเช่นนี้จะเรียกว่า “เรียนบาลีแบบยอดด้วน” ก็คงไม่ผิด

ปัจจุบัน นักเรียนบาลีของเราเรียนคัมภีร์เพียง 5 คัมภีร์ ทั้ง 5 คัมภีร์ไม่ใช่คัมภีร์ชันพระไตรปิฎก จึงปรากฏว่าคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ฯลฯ อีกนับร้อยคัมภีร์ถูกปล่อยไว้เฉยๆ ไม่มีนักเรียนบาลีเข้าไปค้นคว้าศึกษา …

ผู้เขียนบาลีวันละคำขออนุโมทนากับท่านที่ส่งเสริมสนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรเรียนบาลีด้วยประการต่างๆ

ผู้เขียนบาลีวันละคำจะขออนุโมทนาอย่างยิ่ง-หากจะมีท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งคิดจะส่งเสริมสนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรที่เรียนบาลีเอาความรู้บาลีไปค้นคว้าศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ฯลฯ ต่อไปอีก หากไม่รู้จะอ้างเหตุผลอะไร จะอ้างว่า-เหมือนที่ฝรั่งเขาทำ-ก็ได้

การส่งเสริมสนับสนุนดังว่านี้ไม่เป็นการขัดข้องหรือขัดขวางต่อการเรียนบาลีแบบที่กำลังเป็นอยู่นี้แต่ประการใดเลย ตรงกันข้าม กลับเป็นการส่งเสริมเพิ่มพูนให้การเรียนบาลีสมบูรณ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะเป็นการ “ต่อยอดบาลี” ที่ “ด้วน” อยู่ให้เกิดมียอดงอกงามบริบูรณ์ขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

และการส่งเสริมสนับสนุนเช่นนี้แลคือการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้มีรากฐานมั่นคงยั่งยืนไปชั่วกาลนาน เป็นยอดมหากุศลมีอานิสงส์ไพศาลสุดที่จะพรรณนา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไทยยังเรียนบาลีกันแบบวันนี้

: วันหนึ่งฝรั่งจะมาสอนบาลีให้พระไทย

#บาลีวันละคำ (3,861)

07-01-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *