บาลีวันละคำ

มโหฬาร (บาลีวันละคำ 692)

มโหฬาร

อ่านว่า มะ-โห-ลาน

รากศัพท์มาจาก มหา + อุฬาร

มหา” (มะ-หา) ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

เมื่อผ่านกรรมวิธีทางไวยากรณ์ได้รูปเป็น “มหา-” มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส

อุฬาร” (อุ-ลา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “ขึ้นสูง” หรือ “แผ่ออกไป” ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า ใหญ่, โอฬาร, ประณีต, เลิศ, ยอดเยี่ยม, สูงส่ง, ประเสริฐ, โอ่โถง (great, eminent, excellent, superb, lofty, noble, rich)

มหา (< มหนฺต) + อุฬาร ใช้สูตรทางไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า พฤทธิ์ (แผลง) สระหลัง” คือลบ อา ที่พยางค์ท้ายของคำหน้า แผลง อุ ที่พยางค์แรกของคำหลังเป็น โอ

: มหา > มห + อุฬาร > โอฬาร : มห + โอฬาร = มโหฬาร

อ่านแบบบาลีว่า มะ-โห-ลา-ระ

ในคัมภีร์ พบคำว่า “มหนฺต” และ “อุฬาร” ใช้ในความหมายเดียวกัน (โปรดสังเกตคำที่ฝรั่งแปล) แต่ไม่พบ “มหนฺต” และ “อุฬาร” ที่ประสมเป็นคำเดียวกันอย่าง “มโหฬาร” ในภาษาไทย

พจน.54 บอกไว้ว่า –

มโหฬาร : (คำวิเศษณ์) ยิ่งใหญ่, กว้างใหญ่, เช่น ใหญ่โตมโหฬาร”

เมื่อกล่าวถึงสถานที่อันกว้างขวางใหญ่โต หรือกิจการ-กิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ ภาษาที่ถูกต้อง ใช้ว่า “ใหญ่โตมโหฬาร” ไม่ใช่ “ใหญ่โตรโหฐาน

รโหฐาน” เป็นคนละคำ คนละความหมายกับ “มโหฬาร

: บาทเดียวของผู้เปี่ยมศรัทธา

: มโหฬารกว่าร้อยล้านของผู้จำใจ

9-4-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย