เทศกาล-กาลเทศะ (บาลีวันละคำ 699)
เทศกาล-กาลเทศะ
บาลีไทย
อ่านว่า เทด-สะ-กาน / กา-ละ-เท-สะ
บาลีเป็น เทส + กาล, กาล + เทส
“เทส” (เท-สะ) แปลตามศัพท์ว่า “ที่แสดงให้รู้” “ที่ประกาศให้ปรากฏ” ในภาษาบาลีหมายถึง จุด, หัวข้อ, ส่วน, สถานที่, ภาค, ถิ่น, ประเทศ (point, part, place, region, spot, country)
ภาษาไทยใช้ว่า “เทศ” หมายถึง ถิ่นที่, ท้องถิ่น, สถานที่ (ดูเพิ่มเติมที่ “ปฏิรูปเทส” บาลีวันละคำ (608) 14-1-57)
“กาล” (กา-ละ) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน (ดูเพิ่มเติมที่ “กาล” บาลีวันละคำ (594) 31-12-56)
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ –
(1) เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
(2) เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
ในภาษาไทยเอาคำว่า “เทศ” และ “กาล” มาประสมกัน เป็น “เทศกาล” และ “กาลเทศะ” และใช้ในความหมายเฉพาะ ดังที่ พจน.54 บอกไว้ว่า –
(1) เทศกาล : (คำนาม) คราวสมัยที่กําหนดไว้เป็นประเพณีเพื่อทําบุญและการรื่นเริงในท้องถิ่น เช่น ตรุษ สงกรานต์ เข้าพรรษา สารท; คราว เช่น ชาวนาไม่ได้ทํานาสิ้นสองเทศกาลมาแล้ว. (พงศ. เลขา).
(2) กาลเทศะ : (คำนาม) เวลาและสถานที่; ความควรไม่ควร
ข้อสังเกต :
(1) “เทศกาล” ตามความหมายในภาษาไทย บาลีใช้คำว่า “นกฺขตฺตกีฬน” (นัก-ขัด-ตะ-กี-ละ-นะ) หรือ “นกฺขตฺตกีฬา” (–กี-ลา) แปลตามศัพท์ว่า “การเล่นอันกำหนดด้วยนักษัตร” (= การเล่นตามวันเดือนปี) ตรงกับที่เราเรียกว่า “งานนักขัตฤกษ์”
– พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ว่า the celebration of a festival, making merry, taking a holiday (การฉลองนักขัตฤกษ์, การเล่นรื่นเริง, การหยุดพักผ่อนในวันเทศกาล)
– กับอีกคำหนึ่ง คือ “สาธุกีฬน” (สา-ทุ-กี-ละ-นะ) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ว่า a festive play, a sacred festivity (การเล่นในงานมหกรรม, งานรื่นเริงทางศาสนา)
(2) ในคัมภีร์มีคำว่า “กาลเทส” (กา-ละ-เท-สะ) แปลว่า “เวลาและสถานที่” แต่ “กาลเทศะ” ที่หมายถึง “ความควรไม่ควร” ตามความหมายในภาษาไทย ตรงกับคำบาลีว่า
– “กาลญฺญุตา” (กา-ลัน-ยุ-ตา) แปลว่า “ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา” = รู้ว่าเวลาไหนควรทำควรพูดอะไร
– “ปริสญฺญุตา” (ปะ-ริ-สัน-ยุ-ตา) แปลว่า “ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน” = รู้ว่าที่ไหน กับใคร ควรหรือไม่ควรทำกิริยาวาจาอย่างไร
: เทศกาลย่อมจำกัดด้วยการรู้กาลเทศะ
: แต่การรู้กาลเทศะไม่จำกัดด้วยเทศกาล
16-4-57