บาลีวันละคำ

ศก-ศักราช (บาลีวันละคำ 698)

ศก-ศักราช

บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 และ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553 มีข้อความสรุปได้ว่า –

คำว่า “ศก” มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า “ศก” (สะ-กะ) เป็นชื่อราชวงศ์ที่มีอำนาจปกครองอินเดียโบราณทางตอนเหนือระหว่างพุทธศตวรรษที่ 7 ถึงพุทธศตวรรษที่ 9 อาณาจักรของราชวงศ์ศกะ ปัจจุบันอยู่ในแคว้นคุชราษฏร์ พระราชาพระองค์หนึ่งในราชวงศ์นี้ทรงพระนามว่าพระเจ้าศาลิวาหนะ (สา-ลิ-วา-หะ-นะ) เป็นผู้ริเริ่มนำชื่อราชวงศ์ คือ ศกะ มาใช้เป็นชื่อเรียกปี และเกิดคำว่า “ศกราช” (สะ-กะ-รา-ชะ) แปลว่า “พระราชาแห่งราชวงศ์ศกะ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ศก” บอกคำแปลเป็นไทยและอังกฤษไว้ดังนี้ –

ศก : (คำนาม) อธิราช; วิเศษวรรณ, ผู้สันตติของศกหรือศาลิวาหน; ประเทศ; นิวาสิน; กาล, วิศิษฏกาล; a sovereign; a particular caste, the descendants of Śaka and Śālivāhana; a country; the inhabitants; an era.

พจน.54 บอกความหมายคำว่า “ศก” ไว้ว่า –

(1) ระบบการคํานวณนับเวลาเรียงลําดับกันเป็นปี ๆ โดยถือเอาเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ดังในคําว่า รัตนโกสินทรศก ซึ่งถือเอาปีเริ่มสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นจุดเริ่มต้น

(2) ใช้เป็นคําย่อของศักราช เช่น พุทธศก คริสต์ศก

(3) คําเรียกปีหนึ่ง ๆ ของจุลศักราช เพื่อให้ทราบว่าเป็นปีที่ลงท้ายด้วย ๑ ๒ … หรือ ๐ เช่น ถ้าลงท้ายด้วย ๑ เรียกว่า เอกศก ลงท้ายด้วย ๒ เรียกว่า โทศก … ลงท้ายด้วย ๐ เรียกว่า สัมฤทธิศก

(4) (ภาษาปาก) ปี เช่น ศกนี้ ศกหน้า วันเถลิงศก

ส่วนคำว่า “ศกราช” ใช้ในภาษาไทยว่า “ศักราช” (สัก-กะ-หฺราด) พจน.54 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) อายุเวลาซึ่งกําหนดตั้งขึ้นเป็นทางการ เริ่มแต่จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นที่หมายเหตุการณ์สําคัญ เรียงลําดับกันเป็นปี ๆ ไป เช่น พุทธศักราช ๑, ๒, ๓, … จุลศักราช ๑, ๒, ๓, …

(2) ตามความนิยมที่ใช้เป็นธรรมเนียมกันมา, คํา “ศักราช” ในคําเช่น พุทธศักราช คริสต์ศักราช จะใช้ว่า “ศก” เป็น พุทธศก คริสต์ศก ก็ได้ แต่คําเช่น มหาศักราช จุลศักราช ไม่นิยมใช้ว่า มหาศก จุลศก ส่วนคําว่า รัตนโกสินทรศก ไม่นิยมใช้ว่า รัตนโกสินทรศักราช

(3) โดยปริยายหมายความว่า ช่วงใดช่วงหนึ่งซึ่งเริ่มต้นเหตุการณ์สำคัญในชีวิตบุคคล เช่น เริ่มศักราชแห่งชีวิตใหม่ พอเรียนหนังสือจบก็เริ่มศักราชของการทำงาน

สรุปว่า คำว่า “ศก-ศักราช” ในภาษาไทยหมายถึง “ปี” มีมูลมาจากคำสันสกฤตว่า “ศกราช” เป็นชื่อของราชวงศ์โบราณในอินเดีย

ข้อสังเกต :

(1) ในคำบอกศักราช (คือบอกวันเดือนปี) เป็นภาษาบาลีก่อนเทศน์ซึ่งในเมืองไทยใช้กันมาแต่โบราณ คำว่า “ปี” ใช้คำว่า “สํวจฺฉร” (สัง-วัด-ฉะ-ระ)

(2) คำว่า “พุทธศก” หรือ “พุทธศักราช” เคยเห็นนักบาลีของไทยใช้คำว่า “พุทฺธสก” (พุด-ทะ-สะ-กะ) และ “พุทฺธวสฺส” (พุด-ทะ-วัด-สะ) แปลว่า “ปีแห่งพระพุทธเจ้า

: เถลิงศก-เริ่มศักราช

: ควรเป็นโอกาสเริ่มทำความดี

15-4-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย