ปีติ (บาลีวันละคำ 701)
ปีติ
(ไม่ใช่ ปิติ)
อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ ผู้เขียนหนังสือแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 ที่เรียกกันว่า หนังสือชุด มานะ มานี ปิติ ชูใจ ถึงแก่กรรมเมื่อ 15 เมษายน 2557 ทำให้มีผู้เอ่ยถึงคำว่า “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” บ่อยครั้งในระยะนี้
คำว่า “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” เป็นชื่อบุคคลในหนังสือซึ่งผู้เขียนมีสิทธิ์ที่จะสะกดอย่างไรก็ได้เพราะเป็นชื่อเฉพาะ แต่ชื่อ “ปิติ” (ปิ– สระ อิ) มีผู้เข้าใจว่าเป็นคำเดียวกับ “ปีติ” (ปี– สระ อี) ทำให้เขียนคำว่า “ปีติ” เป็น “ปิติ” ไปด้วย
คำที่มีความหมายว่า ความปลาบปลื้มใจ, ความอิ่มใจ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สะกดว่า “ปีติ” (ปี– สระ อี)
“ปีติ” (ปี– สระ อี) รากศัพท์มาจาก ปี (ธาตุ = ยินดี, ชอบใจ) + ติ ปัจจัย แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ยินดี”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปีติ” ว่า emotion of joy, delight, zest, exuberance (ความรู้สึกยินดี, ความอิ่มใจ, ความปราโมทย์, ความซาบซ่านหรือดื่มด่ำ)
ปีติ เป็นคุณภาพจิต ท่านแบ่งลักษณะไว้เป็น 5 อย่าง คือ
1. ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อยพอขนชันน้ำตาไหล
2. ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะรู้สึกแปลบๆ ดุจฟ้าแลบ
3. โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอกรู้สึกซู่ลงมาๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง
4. อุพเพคาปีติ ปีติโลดลอย ให้ใจฟูตัวเบาหรืออุทานออกมา
5. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์เป็นของประกอบกับสมาธิ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ประมวลความไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ดังนี้ –
[226] ปีติ 5 (ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำ — joy; interest; zest; rapture)
1. ขุททกาปีติ (ปีติเล็กน้อย พอขนชูชันน้ำตาไหล — minor rapture; lesser thrill)
2. ขณิกาปีติ (ปีติชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบๆ เป็นขณะๆ ดุจฟ้าแลบ — momentary or instantaneous joy)
3. โอกกันติกาปีติ (ปีติเป็นระลอกหรือปีติเป็นพักๆ ให้รู้สึกซู่ลงมาๆ ในกาย ดุจคลื่นซัดต้องฝั่ง — showering joy; flood of joy)
4. อุพเพตาปีติ หรือ อุพเพงคาปีติ (ปีติโลดลอย เป็นอย่างแรงให้รู้สึกใจฟูแสดงอาการหรือทำการบางอย่างโดยมิได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทาน เป็นต้น หรือให้รู้สึกตัวเบา ลอยขึ้นไปในอากาศ — uplifting joy)
5. ผรณาปีติ (ปีติซาบซ่าน ให้รู้สึกเย็นซ่านแผ่เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ ปีติที่ประกอบกับสมาธิ ท่านมุ่งเอาข้อนี้ — suffusing joy; pervading rapture)
โปรดเปรียบเทียบกับความเข้าใจของฝรั่งที่ศึกษาบาลีแล้วขยายความไว้ดังนี้ –
1. khuddikā pīti : slight sense of interest (ความรู้สึกตื่นเต้นนิดๆ)
2. khaṇikā pīti : momentary joy (ความดีใจชั่วครู่)
3. okkantikā pīti : oscillating interest, flood of joy (ความตื่นเต้นที่แกว่งไปมา หรือขึ้นๆ ลงๆ หรือความดีใจที่ประดังขึ้นมา)
4. ubbegā pīti : ecstasy, thrilling emotion (ความซาบซ่านหรือความปลาบปลื้มอย่างสุดขีด)
5. pharaṇā pīti : interest amounting to rapture, suffusing joy (ความตื่นเต้นถึงขีดลืมตัวหรือหมดสติ)
สรุปว่า –
ชื่อคน จะเขียน ปิติ ก็เขียนไป
แต่ความปลาบปลื้มใจ, ความอิ่มใจ เขียนว่า “ปีติ” (ปี– สระ อี)
พุทธภาษิต : ธมฺมปีติ สุขํ เสติ
ปีติ – ถ้าไม่ติดอยู่แค่ถ้อยคำ
ไปให้ถึงปีติในธรรม ก็จะอยู่เป็นสุข
#บาลีวันละคำ (701)
18-4-57