กุนที (บาลีวันละคำ 708)
กุนที
นายกมล ดวงผาสุก ผู้ใช้นามปากกาในการเขียนบทกลอนว่า “ไม่หนึ่ง ก. กุนที” เสียชีวิตเมื่อ 23 เมษายน 2557
มีผู้สงสัยว่า คำว่า “กุนที” อ่านอย่างไร แปลว่าอะไร
ในบาลีมีคำว่า “กุนฺนที” อ่านว่า กุน-นะ-ที (โปรดสังเกต มี นฺ ซ้อน)
“กุนฺนที” ประกอบด้วย –
(1) กุ + นที ซ้อน นฺ
: กุ + นฺ + นที = กุนฺนที
(2) กุํ (อ่านว่า กุง) + นที แปลงนิคหิต (ที่ กุํ) เป็น นฺ
: กุํ > กุนฺ + นที = กุนฺนที
กระบวนการสรรหาความหมาย (ภาษานักเรียนบาลีเรียกว่า “ตั้งวิเคราะห์”) –
: กุ ขุทฺทกา นที กุนฺนที แปลว่า แม่น้ำ ที่เป็น “กุ” คือแม่น้ำเล็กๆ เรียกว่า “กุนฺนที”
นั่นคือ “กุ” (หรือ กุํ) มีความหมายเท่ากับ “ขุทฺทก” ซึ่งแปลว่า เล็กๆ น้อยๆ
“กุนฺนที” จึงหมายถึง แม่น้ำสายเล็กๆ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กุนฺนที” ว่า a small river, a rivulet (แม่น้ำเล็กๆ, ลำธาร, ทางน้ำไหล)
“กุนฺนที” (อย่าลืมว่า อ่านว่า กุน-นะ-ที) ใช้ในภาษาไทย ตัด น ออกตัวหนึ่ง เขียนเป็น “กุนที” จึงทำให้มีผู้อ่านว่า กุน-ที เพราะเข้าใจว่า น เป็นตัวสะกด
ผู้ที่เอาคำนี้ไปตั้งเป็นชื่อ อ่านชื่อตัวเองว่า กุน-ที ก็มี
เมื่อรู้ที่มาของศัพท์ว่า คำนี้มี “นที” (นะ-ที = แม่น้ำ) เป็นคำหลัก ก็จะเข้าใจได้ถูกว่า ต้องมี -นะ-ที อยู่ในคำอ่านด้วย
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“กุนที [กุน-นะ-ที] : แม่นํ้าน้อย ๆ, แม่นํ้าเล็ก ๆ, เช่น แตกเป็นนิเทศกุนทีน้อย ๆ. (ม. ร่ายยาว กุมาร). (ป. กุนฺนที; ส. กุนที, กุ ว่า น้อย + นที ว่า แม่นํ้า)”
หมายเหตุ :
กรณีคำที่เป็นชื่อเฉพาะ จะอ่านอย่างไร มาจากรากศัพท์อะไรเป็นภาษาอะไร และมีความหมายว่าอย่างไร ย่อมเป็นไปตามเจตนารมณ์ของเจ้าของชื่อนั้นๆ
: ถ้ายังมีตัณหาอยู่ละก็ ….
แม่น้ำใหญ่หรือแม่น้ำน้อยก็ไว้ใจไม่ได้ทั้งนั้น
เพราะพระตรัสว่า –
: นตฺถิ ตณฺหาสมา นที
: แม่น้ำเสมอด้วยตัณหา ไม่มี
#บาลีวันละคำ (708)
25-4-57