บาลีวันละคำ

สังเวชนียสถาน (บาลีวันละคำ 1,788)

สังเวชนียสถาน

อ่านว่า สัง-เว-ชะ-นี-ยะ-สะ-ถาน

แยกศัพท์เป็น สังเวชนีย + สถาน

(๑) “สังเวชนีย” บาลีเป็น “สํเวชนิย” ประกอบด้วย สํเวชน + อิย ปัจจัย

(ก) “สํเวชน” (สัง-เว-ชะ-นะ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + วิชฺ (ธาตุ = มี, เป็น, รู้สึก) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ วิ-(ชฺ) เป็น เอ (วิชฺ > เวช)

: สํ + วิชฺ = สํวิชฺ + ยุ > อน = สํวิชน > สํเวชน แปลตามศัพท์ว่า “การรู้สึกร่วมกัน” หมายถึง ปั่นป่วน, ปลุกปั่น, สังเวช (agitating, moving)

สํเวชน” ในภาษาไทยนิยมใช้เป็น “สังเวช

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังเวช, สังเวช– : (คำกริยา) รู้สึกเศร้าสลดหดหู่ต่อผู้ที่ได้รับทุกขเวทนา หรือต้องตายไป หรือต่อผู้ที่ตนเคารพนับถือซึ่งประพฤติตนไม่เหมาะสมเป็นต้น เช่น เห็นผู้คนประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกแล้วสังเวช พอรู้ข่าวว่าญาติผู้ใหญ่ของตนพัวพันคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงก็สังเวช. (ป., ส. สํเวชน).”

(ข) สํเวชน + อิย = สํเวชนิย แปลตามศัพท์ว่า “อันเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกร่วมกัน” “อันควรแก่การรู้สึกสังเวช” คือ เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช, มักจะทำให้เกิดความสังเวช (apt to cause emotion)

สํเวชนิย” ในคัมภีร์เป็น “สํเวชนีย” (-นี– สระ อี) ก็มี

(๒) “สถาน

บาลีเป็น “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล

ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)

บาลี “ฐาน” สันสกฤตเป็น “สฺถาน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สฺถาน : (คำนาม) สถล, ที่, ตำแหน่ง; การอยู่; สมพาท, ความแม้น; อวกาศหรือมัธยสถาน; ที่แจ้งในเมือง, ทุ่ง, ฯลฯ; เรือน, บ้านหรือที่อาศรัย; บริเฉท; บุรี, นคร; สำนักงาร; บท, สถิติ; การหยุด; place, site, situation; staying; resemblance, likeness; leisure or interval; an open place in a town, a plain, &c.; a house, a dwelling; a chapter; a town, a city; an office; degree, station; halt.”

ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “สถาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สถาน ๑ : (คำนาม) ที่ตั้ง เช่น สถานเสาวภา สถานพยาบาล สถานพักฟื้น สถานบริบาลทารก, ถ้าใช้ประกอบคำอื่นหมายถึง ที่, แหล่ง, เช่น โบราณสถาน ศาสนสถาน ฌาปนสถาน ปูชนียสถาน สังเวชนียสถาน; ประการ เช่น มีความผิดหลายสถาน. (ส.; ป. ฐาน).”

สํเวชนิย + ฐาน ซ้อน ฏฺ ตามกฎทางไวยากรณ์

: สํเวชนิย + ฏฺ + ฐาน = สํเวชนิยฏฺฐาน อ่านว่า สัง-เว-ชะ-นิ-ยัด-ถา-นะ แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่อันควรแก่การรู้สึกสังเวช

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้แบบสรุปความว่า places of pilgrimage (บุณยสถาน หรือสถานที่สำหรับแสวงบุญของชาวพุทธ)

สํเวชนิยฏฺฐาน” เขียนแบบไทยเป็น “สังเวชนียสถาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังเวชนียสถาน : (คำนาม) สถานที่ทางพระพุทธศาสนาอันเป็นที่ตั้งแห่งความสลดสังเวช มี ๔ แห่ง คือ ๑. สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ได้แก่ สวนลุมพินี ปัจจุบันได้แก่ รุมมินเด ในประเทศเนปาล ๒. สถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ ที่ควงพระศรีมหาโพธิ ปัจจุบันได้แก่ พุทธคยา ประเทศอินเดีย ๓. สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันได้แก่ สารนาถ ประเทศอินเดีย ๔. สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ป่าสาลวัน เมืองกุสินารา ปัจจุบันได้แก่ เมืองกาเซีย ประเทศอินเดีย.”

…………..

สังเวชนียสถาน” เป็นพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ใน มหาปรินิพพานสูตร คัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดได้จากพระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 131 และคำอธิบายเพิ่มเติมในคัมภีร์อรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 306-308 พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่ม 13 หน้า 425-427

…………..

: ชีวิตสั้น

: แต่ผลงานยืนยาว

ดูก่อนภราดา!

น่าดีใจที่คนส่วนมากรู้ความจริงข้อนี้

แต่น่าเสียใจที่คนส่วนมากรู้แล้วไม่ได้ทำอะไร

30-4-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย