บาลีวันละคำ

อักษะ (บาลีวันละคำ 732)

อักษะ

อ่านว่า อัก-สะ

ในภาษาไทย คำว่า “อักษะ” มักเข้าใจกันว่าหมายถึงกลุ่มประเทศอันประกอบด้วยเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น เรียกว่า “ฝ่ายอักษะ” ที่รบกับกลุ่มประเทศอันประกอบด้วยอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส เรียกว่า “ฝ่ายสัมพันธมิตร” ในสงครามโลกครั้งที่ 2

คำว่า “อักษะ” ในชื่อ “ฝ่ายอักษะ” แปลว่า “แกน” หมายถึงประเทศที่เป็นแกนกลางในการร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร

อักษะ” อีกคำหนึ่งที่เราได้ยินกันในปัจจุบัน คือชื่อ “ถนนอักษะ” ตั้งชื่อเช่นนี้โดยให้เหตุผลว่า เป็นถนนแกนกลางตัดเชื่อมระหว่างถนนพุทธมณฑลสาย 3 กับถนนพุทธมณฑลสาย 4 (ต่อมากรุงเทพมหานครกับกรมศิลปากร ขอพระราชทานชื่อถนนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนว่า “ถนนอุทยาน“)

พจน.54 บอกไว้ว่า –

อักษะ : (คำนาม) เพลา, แกน. (ส.); เรียกกลุ่มประเทศอันประกอบด้วยเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ที่รวมเป็นแกนร่วมรบกับกลุ่มประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ว่า ฝ่ายอักษะ”

มีผู้อธิบายว่า คำว่า “อักษะ” มาจากภาษาอังกฤษว่า Axis แปลว่า แกนกลาง

ความจริงควรจะกล่าวว่า คำว่า “อักษะ” มาจากภาษาสันสกฤตว่า “อกฺษ” ไม่ใช่มาจากภาษาอังกฤษว่า Axis แต่ “อกฺษ” คำนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Axis และ axle อีกคำหนึ่ง (เสียงใกล้เคียงกันเนื่องจากเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อกฺษ : (คำนาม) ลูกสกา (ลูกเต๋า, ขลุกขลิก), เพลา, ล้อ, ยาน, งู, คดี, พระเวทอันศักดิ์สิทธิ์, วิญญาณ, ผู้บอดแต่กำเนิด, เส้นขีดขวางของโลก, สวนิทรีย์ (=ศัพทินทรีย์); dice for gambling, an axle, wheel, a car, a snake, a lawsuit, sacred knowledge, the soul, one born blind, terrestrial latitude, organ of sound.

จะเห็นได้ว่า “อกฺษอักษะ” ไม่ได้แปลว่า แกนกลาง อย่างเดียว

อักษะ” บาลีเป็นเป็น “อกฺข” อ่านว่า อัก-ขะ มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ –

(๑) ดวงตา, นัยน์ตา

ความหมายนี้แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “อวัยวะที่เป็นไปในอารมณ์” หมายถึง ตา (รวมทั้งหู) เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่รับอารมณ์ คือสิ่งที่ได้เห็นได้ยิน

(2) “อวัยวะที่ไม่มีเวทนา” คือ ทั้งตาทั้งหูทำหน้าที่ “รับอารมณ์” แต่ไม่มีหน้าที่รู้สึกชอบชังอารมณ์ (เวทนา หมายถึงความรู้สึก)

(๒) แกน, เพลารถ

ความหมายนี้แปลตามศัพท์ว่า “ชิ้นส่วนที่ทำให้รถแล่นไปได้” (น่าจะสอดคล้องกับสำนวนที่นิยมพูดเมื่อกำหมดเวลาออกเดินทางโดยรถยนต์ว่า “ล้อหมุนเวลา…”)

(๓) ลูกเต๋า, ลูกบาศก์, ลูกสกา, คะแนน, การพนัน

ความหมายนี้แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุอันเขาใช้ไป” (คือทอดไป โยนไป)

(๔) สมอพิเภก

ความหมายนี้แปลตามศัพท์ว่า “ผลไม้ที่กินโรค” หมายความว่าเมื่อกินสมอพิเภกเข้าไป สมอก็จะไปกินโรคที่ทำให้เจ็บป่วยหมดไป

: แกนหักเพราะหนักความดี

: ดีกว่าแกนดี แต่ไม่ช่วยทำอะไรเลย

#บาลีวันละคำ (732)

19-5-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *