บาลีวันละคำ

บรมเดชานุภาพ (บาลีวันละคำ 1,447)

บรมเดชานุภาพ

อ่านว่า บอ-รม-มะ-เด-ชา-นุ-พาบ

ประกอบด้วย บรม + เดช + อานุภาพ

(๑) “บรม

บาลีเป็น “ปรม” อ่านว่า ปะ-ระ-มะ รากศัพท์มาจากหลายทาง แสดงในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง :

(1) ปร (ข้าศึก) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + กฺวิ ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ และลบปัจจัย

: ปร + มรฺ = ปรมร + กฺวิ = ปรมรกฺวิ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยังธรรมอันเป็นข้าศึกให้ตาย

(2) (ทั่วไป) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ปัจจัย, ลบ

: + รมฺ = ปรม + = ปรมณ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยินดีในความยิ่งใหญ่

(3) ปรฺ (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย

: ปร + = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “รักษาความสูงสุดของตนไว้

ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)

ปรม” ที่ใช้ภาษาไทยว่า “บรม” (บอ-รม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น โง่บรม บรมขี้เกียจ”

(๒) “เดช

บาลีเป็น “เตช” (เต-ชะ) รากศัพท์มาจาก ติชฺ (ธาตุ = ทำให้ร้อน, ลับให้คม) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ ติ-(ชฺ) เป็น เอ (ติชฺ > เตช)

: ติชฺ + = ติชณ > ติช > เตช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เผาภูตรูปและอุปาทายรูปให้มอดไหม้” หมายถึง ความร้อน, เปลวไฟ, ไฟ, แสงสว่าง; ความเปล่งปลั่ง, ความรุ่งโรจน์, ความโชติช่วง, ความงดงาม, พลัง, ความแข็งแรง, อำนาจ (heat, flame, fire, light; radiance, effulgence, splendour, glory, energy, strength, power)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า “เตช” แปลตามศัพท์ว่า “sharpness” (ความคม)

(๓) “อานุภาพ

บาลีเป็น “อานุภาว” (อา-นุ-พา-วะ) รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = เนืองๆ) + ภู (ธาตุ = ไป, ถึง, บรรลุ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(นุ) เป็น อา (อนุ > อานุ), แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อาว (ภู > โภ > ภาว)

: อนุ + ภู + = อนุภูณ > อนุภู > อนุโภ > อนุภาว > อานุภาว แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังผู้พร้อมมูลด้วยสิ่งนั้นให้เจริญร่ำไป

วิธีสรุปความหมายจากคำแปลตามศัพท์ : อานุภาว

– “สิ่งนั้น” คือเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นคุณธรรมเป็นต้น

– มีบุคคลที่มีเหตุปัจจัยเช่นนั้นพร้อมมูล

– มีภาวะอย่างหนึ่งทำให้บุคคลเช่นว่านั้นเจริญอยู่ร่ำไป

– จึงเรียก “ภาวะ” นั้นว่า “อานุภาว

อานุภาว” หมายถึง ความยิ่งใหญ่, ความดีเด่น, อานุภาพ, ความวิเศษ (greatness, magnificence, majesty, splendour)

เตช + อานุภาว = เตชานุภาว แปลทับศัพท์ว่า เดชและอานุภาพ

ปรม + เตชานุภาว = ปรมเตชานุภาว > บรมเดชานุภาพ แปลว่า “เดชและอานุภาพอันสูงสุด

บรมเดชานุภาพ” ใช้กับพระมหากษัตริย์ หมายถึง พระราชอำนาจและพระราชอิสริยยศเกียรติยศทั้งปวงอันใครๆ มิบังควรที่จะล่วงละเมิด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “บรมเดชานุภาพ” ไว้ แต่มีคำว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” บอกความหมายไว้ว่า : กระทําการอันเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์.

ดร.วิษณุ เครืองาม กล่าวถึงคำว่า “พระบรมเดชานุภาพ” ไว้ว่า –

……

เป็นคำกลางๆ ที่สมมุติหรือตั้งขึ้นเพื่อใช้เรียกแทน “ความเป็นพระมหากษัตริย์” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Majesty คำนี้รวมเอาอำนาจของพระมหากษัตริย์ ความสง่างาม ความยิ่งใหญ่ ตลอดจนศักดิ์ศรีของความเป็นพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ เป็นที่มาแห่งเกียรติยศและที่มาแห่งความยุติธรรมมารวมกัน

……

ดูเพิ่มเติมที่ : http://www.dailynews.co.th/article/198804

——-

ดูก่อนภราดา!

อันว่าผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงนั้น :

ย่อมไม่ทำความงามสง่าบนบ่าของตน

ด้วยการเหยียบบ่าของเพื่อนมนุษย์

18-5-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย