กฎอัยการศึก (บาลีวันละคำ 733)
กฎอัยการศึก
บาลีว่าอย่างไร
พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกไว้ว่า –
“กฎอัยการศึก : n.martial law”
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี บอกไว้ว่า –
martial law : yuddhāṇā ยุทฺธาณา. yuddhāyattapālana ยุทฺธายตฺตปาลน.
(1) “ยุทฺธาณา” ประกอบด้วย ยุทฺธ (ยุด-ทะ, = การสู้รบ, สงคราม) + อาณา (อา-นา, = คำสั่ง, คำบังคับ, อำนาจ, การใช้อำนาจ, การสั่งบังคับ)
: ยุทฺธ + อาณา = ยุทฺธาณา (ยุด-ทา-นา) แปลว่า การใช้อำนาจในยามสงคราม, การใช้คำสั่งบังคับในยามที่มีการสู้รบ (ในยามปกติไม่มีอำนาจทำเช่นนั้น หรือไม่ใช้คำสั่งเช่นนั้น)
(2) “ยุทฺธายตฺตปาลน” ประกอบด้วย ยุทฺธ + อายตฺต (อา-ยัด-ตะ, = เกี่ยวข้อง, เนื่องด้วย, ขึ้นอยู่กับ) + ปาลน (ปา-ละ-นะ, = การปกครอง, การระวังรักษา, การควบคุม, การดูแล)
: ยุทฺธ + อายตฺต + ปาลน = ยุทฺธายตฺตปาลน (ยุด-ทา-ยัด-ตะ-ปา-ละ-นะ) แปลว่า การปกครองอันเนื่องมาจากสงคราม, การควบคุมดูแลเนื่องจากสถานการณ์สู้รบ
ทั้ง “ยุทฺธาณา” และ “ยุทฺธายตฺตปาลน” ไม่พบว่ามีใช้ในคัมภีร์ เป็นคำที่ผูกขึ้นใหม่เทียบภาษาอังกฤษว่า martial law
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กฎอัยการศึก : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) กฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารลิดรอนสิทธิเสรีภาพบางประการของประชาชนได้ตามความจำเป็น ทั้งให้มีอำนาจหน้าที่เหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปรามหรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และศาลทหารมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างที่ประกาศระบุไว้แทนศาลพลเรือน การใช้กฎอัยการศึกจะกระทำได้เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เช่น ในกรณีเกิดสงคราม การจลาจล โดยจะให้มีผลบังคับทุกท้องที่หรือบางท้องที่ก็ได้ตามความจำเป็น”
: ถ้าใจมีธรรมคอยฝึก ไม่ต้องกฎอัยการศึกก็สงบ
: ถ้าขาดคุณธรรมสำนึก ร้อยกฎอัยการศึกก็ไม่จบ
#บาลีวันละคำ (733)
20-5-57