ลาภสักการะ (บาลีวันละคำ 741)
ลาภสักการะ
อ่านว่า ลาบ-สัก-กา-ระ
บาลีเขียนเป็น “ลาภสกฺการ” อ่านว่า ลา-พะ-สัก-กา-ระ
ประกอบด้วย ลาภ + สกฺการ
“ลาภ” รากศัพท์มาจาก ลภฺ (ธาตุ = ได้) + ณ ปัจจัย, ทีฆะต้นธาตุ ล เป็น ลา
: ลภฺ > ลาภ + ณ = ลาภ
คำว่า “ลาภ” แปลตามศัพท์ว่า การได้, ของที่ได้ เรานิยมพูดทับศัพท์ว่า ลาภ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ลาภ” ว่า receiving, getting, acquisition, gain, possession (การรับ, การได้, การได้มา, กำไร, สิ่งที่ได้มา, สมบัติ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“ลาภ : (คำนาม) สิ่งที่มักจะได้มาโดยไม่คาดคิด. (ป., ส. ลาภ ว่า ของที่ได้, การได้, กําไร)”
“สกฺการ” รากศัพท์มาจาก ส < สกฺกจฺจํ (= เคารพ, ให้ความสำคัญ) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ซ้อน ก, ทีฆะต้นธาตุ ก เป็น กา
: ส > สกฺ + กรฺ > การ = สกฺการ
“สกฺการ” แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ทำด้วยความเคารพ” ใช้ในความหมายว่า การเคารพ, การนับถือ, เครื่องสักการะ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สกฺการ” ว่า hospitality, honour, worship (การต้อนรับ, การให้เกียรติ, การเคารพสักการะ)
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“สักการ-, สักการะ : (คำกริยา) บูชาด้วยสิ่งหรือเครื่องอันพึงบูชา เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ บูชา เป็น สักการบูชา”
โปรดสังเกตว่า ในบาลี “สกฺการ” เป็นคำนาม ไม่ใช่คำกริยา
ลาภ + สกฺการ = ลาภสกฺการ > ลาภสักการะ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งของที่ได้และความเคารพนับถือ”
ตามหลักภาษาต้องอ่านว่า ลา-พะ-สัก-กา-ระ แต่นิยมพูดตามสะดวกปากว่า ลาบ-สัก-กา-ระ คำเก่าเขียนเป็น “ลาภสักการ” ออกเสียงว่า ลาบ-สะ-กาน ก็มี
คำว่า “ลาภสกฺการ” มีใช้ทั่วไปในคัมภีร์ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ว่า gain and honour (ในที่นี้ภาษาอังกฤษอาจช่วยให้มองภาพได้กว้างกว่าภาษาไทย)
ในหมู่คนทั่วไป อาจไม่ค่อยคุ้นกับคำนี้ แต่ในวงการศาสนาและลัทธิความเชื่อต่างๆ ถ้าเอ่ยคำว่า “ลาภสักการะ” จะเป็นที่รู้เข้าใจกันเป็นอันดีว่าหมายถึง ผลประโยชน์อันเกิดจากความนับถือเลื่อมใส บางทีก็หมายถึงผลประโยชน์ที่ได้รับอันเนื่องมาจากการได้อยู่ในสถานะนั้นๆ
เช่น “พอได้เป็นรัฐบาล ลาภสักการก็ไหลมาเทมา”
สรุปความหมายสั้นๆ ในภาษาไทย “ลาภสักการะ” หมายถึงผลประโยชน์นั่นเอง
: คนใจมาร ปล่อยให้ลาภสักการนำไปสู่หายนะ
: คนใจพระ ใช้ลาภสักการนำไปสู่วิวัฒนา
#บาลีวันละคำ (741)
29-5-57