บาลีวันละคำ

วีรบุรุษ (บาลีวันละคำ 740)

วีรบุรุษ

อ่านว่า วี-ระ-บุ-หฺรุด

บาลีเป็น “วีรปุริส” อ่านว่า วี-ระ-ปุ-ริ-สะ

ประกอบด้วย วีร + ปุริส

วีร” มีรากศัพท์ ดังนี้ –

(1) วี (ธาตุ = ก้าวไป) + ปัจจัย : วี + = วีร แปลว่า “ผู้ก้าวไปสู่ความสูงสุด

(2) วีรฺ (ธาตุ = กล้าหาญ) + ปัจจัย : วีร + = วีร แปลว่า “ผู้กล้าหาญ

(3) วิ (= ไม่มี, ปราศจาก) + อีร (= ความหวั่นไหว) : วิ + อีร = วีร แปลว่า “ผู้ปราศจากความหวั่นไหว

วีร” มีความหมายว่า เป็นชาติชาย, ทรงอำนาจ, เก่งกล้า, ผู้กล้าหาญ (manly, mighty, heroic; a hero)

ปุริส” แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม

(2) “ผู้ยังความต้องการให้เต็ม

(3) “ผู้อยู่ในเบื้องสูง

(4) “ผู้ไปในฐานะที่สูง

(5) “ผู้เป็นไปในเบื้องหน้า

(6) “ผู้นอน บน อก โดยปกติ

(ดูเพิ่มเติมที่ “ปุริส” บาลีวันละคำ (71) 16-7-55)

ปุริส” สันสกฤตเป็น “ปุรุษ” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บุรุษ

ปุริส = บุรุษ” มีความหมาย 2 นัย คือ –

(1) ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป หมายถึง “ผู้ชาย

(2) ความหมายในวงกว้างหมายถึง “มนุษย์” หรือ “คน” ไม่จำกัดว่าชายหรือหญิง

(โปรดสังเกตเทียบคำว่า man ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า “ผู้ชาย” แต่ในวงกว้าง man แปลว่า “มนุษย์” หรือ “คน”)

วีร + ปุริส = วีรปุริส > วีรบุรุษ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วีรบุรุษ : ชายที่ได้รับยกย่องว่ามีความกล้าหาญ. (ส. วีรปุรุษ)”

อันที่จริง “วีรบุรุษ” หมายถึง “คน” ที่ได้รับยกย่องว่ามีความกล้าหาญ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นชายหรือหญิง

แต่ในภาษาไทย เราไปจำกัดความหมายว่า “บุรุษ” หมายถึง “ผู้ชาย” ทำให้เข้าใจไปว่า “วีรบุรุษ” คือ เฉพาะชายที่ได้รับยกย่องว่ามีความกล้าหาญ เมื่อจะกล่าวถึงผู้หญิงที่มีความกล้าหาญ จึงต้องมีคำเฉพาะขึ้นมาอีกคำหนึ่งคือ “วีรสตรี

ข้อสังเกต :

คำว่า “วีร” ภาษาลาตินว่า vir, virtus นักภาษาว่าตรงกับ virtue ในภาษาอังกฤษ

ในคัมภีร์บาลี แสดงความหมายของ “วีร” โดยวัดที่การลงมือทำความดี (virtue) หมายถึง คนกล้าที่จะทำความดีเท่านั้นจึงจะนับว่าเป็น “วีรบุรุษ

วีรบุรุษ” เมื่อตัดสินใจทำความดีแล้ว ท่านว่าจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ –

(1) “วิริยวา” (วิริยะวา) – บากบั่นกล้าสู้

(2) “ปหู” (ปะหู) – ทำเต็มความสามารถ

(3) “วิสวี” (วิสะวี) – รู้งานและแนะนำให้กำลังใจผู้ร่วมงานได้

(4) “อลมตฺต” (อะละมัตตะ) – ทำตัวให้เหมาะกับงาน (ไม่ใช่อ้างว่างานนี้ฉันไม่ถนัด)

(5) “สูร” (สูระ) – ทำแบบถวายชีวิต (ไม่แล้วไม่เลิก)

(6) “วิกฺกนฺต” (วิกกันตะ) – บุกไปข้างหน้าเหมือนม้าโผนศึก

(7) “อภีรุ” (อะภีรุ) – ไม่กลัวตาย

(8) “อจฺฉมฺภี” (อัจฉัมภี) – ไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึง

(9) “อนุตฺราสี” (อะนุตราสี) – ไม่วิตกกังวล

(10) “อปลายี” (อะปะลายี) – ไม่หนีหน้า

(11) “ปหีนภยเภรว” (ปะหีนะภะยะเภระวะ) – ทิ้งความกลัวและความหวั่นเกรงไว้เบื้องหลัง

(12) “วิคตโลมหํส” (วิคะตะโลมะหังสะ) – ไม่ตื่นเต้นหรือตื่นตระหนก

งานของบ้านเมือง –

: ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน เป็นคนขี้ขลาด

: ทำเพื่อประเทศชาติ เป็นวีรบุรุษ

#บาลีวันละคำ (740)

28-5-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *