สุวรรณภูมิ (บาลีวันละคำ 748)
สุวรรณภูมิ
ภาษาไทยอ่านว่า สุ-วัน-นะ-พูม
บาลีเป็น “สุวณฺณภูมิ” อ่านว่า สุ-วัน-นะ-พู-มิ
ประกอบด้วย สุวณฺณ + ภูมิ
“สุวณฺณ” มาจาก สุ (= ดี, งาม) + วณฺณ (= สี) = สุวณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สีดี” หรือ “สีงาม” หมายถึง ทองคำ (gold)
“สุวณฺณ” สันสกฤตเป็น “สุวรฺณ” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “สุวรรณ”
“ภูมิ” บาลีอ่านว่า พู-มิ แปลตามรากศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน, สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค, พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, soil, earth, place, quarter, district, region, plane, stage, level)
สุวณฺณ + ภูมิ = สุวณฺณภูมิ แปลความได้หลายนัย เช่น –
(1) ดินแดนแห่งทองคำ = แดนทอง, ถิ่นทอง
(2) แผ่นดินอันมีค่าดุจทองคำ = แผ่นดินทอง
(3) ดินแดนที่สวยงาม = ถิ่นงาม
ในคัมภีร์กล่าวถึง “สุวณฺณภูมิ–สุวรรณภูมิ” ไว้หลายแห่ง เมื่อเอาชมพูทวีปเป็นต้นทางการเดินทางไปยังสุวรรณภูมิต้องไปทางเรือ คัมภีร์มโนรถปูรณี (อรรถกถาแห่งคัมภีร์อังคุตรนิกายในพระไตรปิฎก) ระบุว่า จากลังกาทวีป (ศรีลังกา) ถึงสุวรรณภูมิระยะทางประมาณเจ็ดร้อยโยชน์
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า ดินแดนที่เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” ก็คือเอเชียอาคเนย์หรือแหลมทอง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุวรรณภูมิ : (คำนาม) ดินแดนแหลมทองซึ่งเชื่อกันว่ามีอาณาบริเวณครอบคลุมพม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์”
: แผ่นดินไร้ธรรม แม้จะเต็มด้วยทองคำก็เหมือนก้อนหิน
: แผ่นดินมีธรรมครอง ดินทุกกองก็เป็นทองทุกแผ่นดิน
—————–
(หยิบฉวยมาจากคำของคุณครู Charanya Deeboonmee Na Chumphae)
#บาลีวันละคำ (748)
5-6-57