บาลีวันละคำ

ปวารณาเข้าพรรษา (บาลีวันละคำ 2,243)

ปวารณาเข้าพรรษา

อย่ายอมให้ผิดกลายเป็นถูก

ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาที่ผ่านมา มีผู้เรียกขานกิจของสงฆ์ที่กระทำในวันเข้าพรรษาว่า “ปวารณาเข้าพรรษา

โปรดทราบว่า “ปวารณาเข้าพรรษา” เป็นคำที่พูดผิด ใช้ผิด

ปวารณา” เป็นกิจที่ทำเมื่อออกพรรษา ไม่ใช่ทำเมื่อเข้าพรรษา

เข้าพรรษาไม่เรียกว่า “ปวารณา” แต่เรียกว่า “อธิษฐาน” คือเรียกว่า “อธิษฐานเข้าพรรษา” หรือ “อธิษฐานพรรษา

: ถือเป็นโอกาสศึกษาความหมายของศัพท์

ส่วนประกอบของคำ “ปวารณา” มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า) + วรฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา, ห้าม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น , ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (วรฺ > วาร) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: + วรฺ = ปวร + ยุ > อน = ปวรน > ปวารน > ปวารณ + อา = ปวารณา

ปวารณา” แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กิริยาเป็นเหตุให้ปรารถนาปัจจัย” = การยอมให้ขอ คือ รับปากว่าเมื่อต้องการสิ่งใดๆ ก็ให้บอก จะจัดหาให้ตามที่รับปากไว้

(2) “กิริยาเป็นเหตุให้ขอร้องสงฆ์เป็นต้น ด้วยเรื่องต่างๆ เช่นเรื่องที่ได้เห็นเป็นต้น” = การยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน คือ เมื่อได้เห็นด้วยตนเองว่าทำไม่ถูกไม่ควร หรือไม่ได้เห็น แต่ได้ฟังมาจากคนอื่น หรือแม้ไม่ได้เห็นและไม่ได้ฟังมาจากใคร แต่นึกสงสัยขึ้นมาเอง ก็เปิดโอกาสให้เตือนหรือให้ทักท้วงได้

(3) “การห้ามที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ” = การปฏิเสธเมื่อมีเหตุอันควร เช่น รับประทานพอแก่ความต้องการแล้ว แม้เห็นอาหารที่อร่อยก็ไม่ตามใจปาก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปวารณา : (คำกริยา) ยอมให้ภิกษุสามเณรขอหรือเรียกร้องเอาได้ เช่น ขอของจากผู้ปวารณา ใบปวารณา; บอกยอมให้ใช้ได้ด้วยความเต็มใจ เช่น ขอปวารณาจะใช้อะไรก็บอก; พิธีกรรมทางศาสนายอมให้สงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนได้ ทําในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษา, เรียกวันออกพรรษาว่า วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “ปวารณา” เป็นอังกฤษดังนี้ –

ปวารณา (Pavāraṇā) :

1. invitation; giving occasion or opportunity; allowance.

2. invitation to ask.

3. invitation to speak.

…………..

ส่วนคำว่า “อธิษฐาน” บาลีเป็น “อธิฏฺฐาน” (อะ-ทิด-ถา-นะ) ประกอบขึ้นจาก อธิ + ฐาน

(๑) “อธิ” (อะ-ทิ)

เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ

(๒) “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน : ฐา + อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่ตั้งแห่งผล” มีความหมายว่า –

(1) สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ส่วน (ของสิ่งใดๆ) (place, region, locality, abode, part)

(2) ภาวะ, สถานะ (state, condition)

อธิ + ฐาน ซ้อน ฏฺ : อธิ + ฏฺ + ฐาน = อธิฏฺฐาน แปลตามศัพท์ว่า “การหยุดทับ” “การตั้งมั่น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล“อธิฏฺฐาน” ว่า –

(1) decision, resolution, self-determination, will (การตัดสินใจ, ความตั้งใจ, การอธิษฐาน, ความปรารถนา)

(2) obstinacy (ความดื้อดึง), prejudice (ใจเอนเอียง), bias (คิดเข้าข้าง)

(3) (ใช้เป็นคุณศัพท์) applying oneself to, bent on (ปวารณาตนเอง, มีใจโน้มไปทาง-)

(4) looking after, management, direction, power (การดูแล, การจัดการ, การบัญชางาน, อำนาจ)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อธิษฐาน : (คำกริยา) ตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตั้งจิตปรารถนา, ตั้งจิตขอร้องต่อสิ่งที่ตนถือว่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, อธิฏฐาน ก็ว่า. (ส.; ป. อธิฏฺฐาน).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อธิษฐาน” ไว้ตอนหนึ่งว่า –

อธิษฐาน : 1. ในทางพระวินัย แปลว่า การตั้งเอาไว้ ตั้งใจกำหนดแน่นอนลงไป เช่น อธิษฐานพรรษา ตั้งเอาไว้เป็นของเพื่อการนั้นๆ หรือตั้งใจกำหนดลงไปว่าให้เป็นของใช้ประจำตัวชนิดนั้นๆ เช่น ได้ผ้ามาผืนหนึ่ง ตั้งใจว่าจะใช้เป็นอะไร คือจะเป็นสังฆาฏิ อุตตราสงค์ อันตรวาสก ก็อธิษฐานเป็นอย่างนั้นๆ เมื่ออธิษฐานแล้ว ของนั้นเรียกว่าเป็นของอธิษฐาน เช่น เป็นสังฆาฏิอธิษฐาน จีวรอธิษฐาน (นิยมเรียกกันว่า จีวรครอง) ตลอดจนบาตรอธิษฐาน ส่วนของชนิดนั้น ที่ได้เพิ่มมาอีกหรือเกินจากนั้นไปก็เป็นอติเรก เช่น เป็นอติเรกจีวร, อติเรกบาตร, …

…………..

ในแบบเรียนนักธรรมพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นต้น เมื่อกล่าวถึงเข้าพรรษาท่านก็ใช้คำว่า “อธิษฐาน” ทั้งนั้น (ดูภาพประกอบ)

สรุปว่า เมื่อพูดถึงเข้าพรรษา –

ปวารณาเข้าพรรษา” เป็นคำที่พูดผิดเขียนผิด

คำที่ถูกต้องคือ “อธิษฐานพรรษา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ภาษาของชาติวิปริต

: เพราะพูดผิดเขียนผิดแล้วพากันนิ่งดูดาย

#บาลีวันละคำ (2,243)

3-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย