ภาษาไทยของสำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช
ภาษาไทยของสำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช
————————————————
วันนี้ช่วงเดินออกกำลังตอนเช้า ผมเข้าไปไหว้พระในวัดมหาธาตุ ราชบุรี และเข้าไปนมัสการหลวงพ่อเจ้าอาวาส ก่อนกลับได้ปรารภกับอีกท่านหนึ่งซึ่งอยู่ในวงสนทนาด้วยกันถึงเรื่องเหตุการณ์วันถวายดอกไม้จันทน์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช กรณีที่มีผู้ยกเรื่องขึ้นมาทักท้วงว่าจัดที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ไม่เหมาะสม ซึ่งจังหวัดนครศรีธรรมราชชี้แจงออกมาแล้วว่า ทางจังหวัดจัดเหมาะสมแล้ว
ผมบอกว่าถ้าเอาภาพที่นั่งของพระสงฆ์ที่ว่าจัดหมาะสมแล้วมาเผยแพร่ให้ดูกันก็จะเป็นการแก้ข้อกล่าวหาได้ขาวสะอาด
ท่านผู้ร่วมสนทนาก็บอกว่า ที่นั่งของพระสงฆ์มีที่เดียวคือที่ปรากฏตามภาพในสื่อนั่นแหละ ไม่มีจัดไว้ที่อื่นอีก
ผมก็เลยต้องกลับมาอ่านคำชี้แจงข้อเท็จจริงของจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกรอบหนึ่ง
อ่านรอบนี้-ขอประทานโทษเถอะครับ-อ่านด้วยบาปจิต (บาบ-ปะ-จิด) คืออ่านเพื่อจะจับผิด จึงต้องขออภัยไว้เป็นเบื้องต้น ณ ที่นี้
————
คำชี้แจงข้อเท็จจริงนี้ออกมาจากสำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เสมือนแม่บ้านของจังหวัด
คำชี้แจงนี้มีข้อความบางตอนที่ผมเห็นว่าควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณา
ขออนุญาตคัดบางตอนที่ว่านั่นมาให้ดูกันชัดๆ ตรงนี้เลย (ดูจากภาพประกอบด้วย)
————-
ข่าวสำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช
เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการจัดพระราชพิธีถวายดอกไม้จันทน์และถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปรินายก วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๘
————
ตามที่มีข่าวผ่านทาง Social media เกี่ยวกับการจัดสถานที่นั่งของพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ในพระราชพิธีถวายดอกไม้จันทน์และถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชสกลสังฆปรินายก ไม่เหมาะสม นั้น
สำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ขอเรียนชี้แจงว่า …….
……………………………………………………………………………..
……………………………………………………………………………..
……………………………………………………………………………..
ซึ่งในพระราชพิธีดังกล่าวมีหัวหน้าส่วนราชการ พลเรือน ตุลาการ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และ พุทธศาสนิกชน เข้าร่วมพิธีประมาณ ๔,๐๐๐ คน โดยผู้รับผิดชอบการจัดสถานที่ได้จัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆอย่างชัดเจน ได้แก่ พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่จัดที่นั่งโดยยกพื้นสูงปูพรม ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พระภิกษุสงฆ์ทั่วไป และ พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย หลังจากที่พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่จำนวน ๑๐ รูป ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร รองเจ้าคณะภาค ๑๖-๑๗-๑๘ (ธรรมยุติ) แสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ และหลังจากเสร็จพิธีสงฆ์ของจังหวัดแล้ว เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครศรีธรรมราชได้นิมนต์พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายลงมานั่งเก้าอี้ข้างล่าง ซึ่งต่ำกว่าแผ่นปูพื้นพรมและเก้าอี้หลุยส์ของผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชและที่นั่งของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ และชมการถ่ายทอดสดพิธีสงฆ์จากส่วนกลาง ……..
……………………………………………………………………………..
……………………………………………………………………………..
——————-
ส่วนที่เป็นข้อกรณี
——————-
๑ “… ผู้รับผิดชอบการจัดสถานที่ได้จัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆอย่างชัดเจน ได้แก่ พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่จัดที่นั่งโดยยกพื้นสูงปูพรม …”
ความข้อนี้น่าจะหมายถึง “อาสน์สงฆ์” ที่นั่งสวดมนต์ในพิธี ไม่ใช่ที่นั่งร่วมพิธี
เมื่อเสร็จพิธีสวดมนต์แล้วพระก็ต้องลงจากอาสน์สงฆ์
ถามว่าเมื่อลงจากอาสน์สงฆ์แล้วจัดให้ท่านนั่งร่วมพิธีตรงไหน?
๒ ข้อความต่อจากคำว่า … ยกพื้นสูงปูพรม …เขียนว่า
“… ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พระภิกษุสงฆ์ทั่วไป และ พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย …”
จบความแค่นี้
ไม่ได้บอกให้ชัดเจนลงไปว่า บุคคลที่เอ่ยถึงเหล่านี้ผู้รับผิดชอบการจัดสถานที่ได้จัดให้นั่งตรงไหน นั่งหน้านั่งหลัง นั่งสูงนั่งต่ำกันอย่างไร ไม่ได้บอก คงพูดทิ้งไว้ลอยๆ ให้เข้าใจเอาเองว่า “จัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ อย่างชัดเจน”
๓ ประเด็นที่เป็นปัญหาที่คนอยากรู้ข้อเท็จจริงก็คือ พระภิกษุสงฆ์ทั่วไปที่มาร่วมพิธีผู้รับผิดชอบการจัดสถานที่จัดให้ท่านนั่งตรงไหน
คำชี้แจงไม่ได้เอ่ยถึงเลย
๔ ถ้าดูภาพที่ผมนำมาประกอบเรื่องนี้ จะเห็นได้ชัดว่า พระภิกษุสงฆ์ทั่วไปที่มาร่วมพิธีถูกจัดให้- “นั่งเก้าอี้ข้างล่าง ซึ่งต่ำกว่าแผ่นปูพื้นพรมและเก้าอี้หลุยส์ของผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชและที่นั่งของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่” (จากคำชี้แจง)
และสถานที่ตรงนี้เองที่คำชี้แจงบอกว่า “หลังจากเสร็จพิธีสงฆ์ของจังหวัดแล้ว เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครศรีธรรมราชได้นิมนต์พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายลงมานั่ง … เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ และชมการถ่ายทอดสดพิธีสงฆ์จากส่วนกลาง”
หมายความว่า พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นพระสวดมนต์ ๑๐ รูป เมื่อเสร็จพิธีสวดมนต์แล้วท่านก็ถูกนิมนต์มานั่งรวมกับพระสงฆ์อื่นๆ ที่ถูกจัดให้นั่งอยู่ตรงนี้แล้วนั่นเอง
ถ้าภาพประกอบและคำชี้แจงนี้เป็นเรื่องจริง ก็คงพอจะเป็นข้อมูลให้พิจารณาได้ว่าการจัดที่นั่งสำหรับพระภิกษุสงฆ์ในงานครั้งนี้มีความเหมาะสมหรือไม่เพียงไร
๕ กรณีนี้ไม่พึงเข้าใจแคบๆ ว่า เพ่งเล็งเฉพาะที่นั่งของ “พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่” ดังที่ดูเหมือนว่าคำชี้แจงจะจำกัดความอยู่แค่นั้น
แต่ต้องหมายถึงที่นั่งของหมู่พระสงฆ์ทั่วไปทั้งหมดที่มาร่วมพิธี และโดยเฉพาะ-เมื่อเทียบกับที่นั่งของข้าราชการอื่นๆ ว่าแตกต่างกันอย่างไร
โปรดอย่างลืมว่า งานนี้ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คืองานศพพระ เพราะฉะนั้นผู้มาร่วมงานที่เป็นพระสงฆ์จึงควรได้รับการถวายเกียรติอย่างดียิ่งกว่าเมื่อท่านไปในงานอื่น
แต่เมื่อว่าในแง่วัฒนธรรมของชาวพุทธ ไม่ว่าในงานไหนๆ พระสงฆ์ไม่ว่าระดับไหนย่อมสมควรได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพเสมอ
———————–
ส่วนที่เป็นการใช้ภาษา
———————–
คำชี้แจงใช้ภาษาที่ผมเห็นว่าคลาดเคลื่อนหลายแห่ง
๑ “การจัดพระราชพิธีถวายดอกไม้จันทน์”
ผมไม่แน่ใจว่า การถวายดอกไม้จันทน์ที่จัดขึ้นตามวัดต่างๆ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมาเป็น “พระราชพิธี” หรือเปล่า
ขอความรู้จากท่านผู้ที่รู้ข้อมูลด้วยครับ
๒ “สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปรินายก”
คำชี้แจงออกพระนามเช่นนี้ ๒ ครั้ง (เข้าใจว่าคงใช้วิธีคัดลอกไปวาง)
การออกพระนามที่ครบถ้วนคือ –
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สกลมหาสังฆปริณายก
ไม่ใช่ – สกลสังฆปรินายก
ปริณายก -ณา- ณ เณร
ไม่ใช่ -นา- น หนู
๓ “พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่จำนวน ๑๐ รูป ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์”
งานนี้เป็นงานศพ ต้องใช้ว่า “สวดพระพุทธมนต์”
๔ “พระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร รองเจ้าคณะภาค ๑๖-๑๗-๑๘ (ธรรมยุติ)”
ชื่อนิกายนี้ เรียกเต็มว่า “ธรรมยุติกนิกาย” (ทำ-มะ-ยุด-ติ-กะ-นิ-กาย)
เรียกสั้นๆ ว่า “ธรรมยุต” (ทำ-มะ-ยุด)
ธรรมยุต (ไม่มีสระ อิ)
ไม่ใช่ ธรรมยุติ
———-
ที่นำเรื่องนี้มาพูดอีก ไม่ได้มีเจตนาจะชวนทะเลาะกับท่านผู้ใด
เรื่องนี้ ถ้ามีใครทำอะไรผิดพลาด ก็ควรถือเป็นโอกาสที่จะช่วยกันศึกษาเป็นบทเรียน เพื่อไม่ให้ผิดพลาดอีก
ควรถือเป็นโอกาสกำหนดแบบแผนที่เป็นมาตรฐานกลางในพิธีต่างๆ ที่มีพระสงฆ์มาร่วมในพิธี เช่นควรกำหนดแผนผังการจัดสถานที่อย่างไร เช่นใครควรนั่งตรงไหนเป็นต้น (ขอให้นึกเทียบแบบแผนการจัดสถานที่ในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ซึ่งยุติลงตัวมานานแล้ว)
ใครรู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก็ถือเป็นโอกาสบอกกล่าวเพื่อเป็นข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป
แม้ที่ผมทักท้วงนั่นนี่โน่น ถ้าญาติมิตรท่านใดเห็นว่ายังผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อน หรือเห็นว่าไม่เหมาะไม่ควร ก็ยังถือเป็นโอกาสที่จะช่วยกันตอบกลับชี้แจงแก้ไขเพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้องได้อยู่นั่นเอง
เรื่องอย่างนี้ไม่ควรมีพวกใคร ฝ่ายไหน ควรมีแต่ “พวกเรา” ที่จะช่วยประคับประคองกันไปในแนวทางที่ถูกที่ควร ด้วยไมตรีจิต ด้วยกุศลจิต เพื่อความจำเริญร่วมกัน
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘
๑๖:๑๑
หมายเหตุ:
ภาพประกอบจากท่านอาจารย์ Zamar Sib Oon ที่กรุณาแชร์มาที่ไทม์ไลน์ของผม-ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
——–
ข่าวสำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช
เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการจัดพระราชพิธีถวายดอกไม้จันทน์และถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปรินายก วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๘
————
ตามที่มีข่าวผ่านทาง Social media เกี่ยวกับการจัดสถานที่นั่งของพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ในพระราชพิธีถวายดอกไม้จันทน์และถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชสกลสังฆปรินายก ไม่เหมาะสม นั้น
สำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ขอเรียนชี้แจงว่า …….
……………………………………………………………………………..
……………………………………………………………………………..
……………………………………………………………………………..
ซึ่งในพระราชพิธีดังกล่าวมีหัวหน้าส่วนราชการ พลเรือน ตุลาการ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และ พุทธศาสนิกชน เข้าร่วมพิธีประมาณ ๔,๐๐๐ คน โดยผู้รับผิดชอบการจัดสถานที่ได้จัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆอย่างชัดเจน ได้แก่ พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่จัดที่นั่งโดยยกพื้นสูงปูพรม ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พระภิกษุสงฆ์ทั่วไป และ พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย หลังจากที่พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่จำนวน ๑๐ รูป ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร รองเจ้าคณะภาค ๑๖-๑๗-๑๘ (ธรรมยุติ) แสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ และหลังจากเสร็จพิธีสงฆ์ของจังหวัดแล้ว เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครศรีธรรมราชได้นิมนต์พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายลงมานั่งเก้าอี้ข้างล่าง ซึ่งต่ำกว่าแผ่นปูพื้นพรมและเก้าอี้หลุยส์ของผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชและที่นั่งของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ และชมการถ่ายทอดสดพิธีสงฆ์จากส่วนกลาง ……..
……………………………………………………………………………..
……………………………………………………………………………..
————-
สำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช
วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘
…………………………….
…………………………….