บาลีวันละคำ

ดูกร (บาลีวันละคำ 759)

ดูกร

คำไทยที่ถูกอ่านเป็นบาลี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ดูกร : คำกล่าวขึ้นต้นข้อความกับผู้ที่จะพูดด้วยให้สนใจฟัง”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

ดูกร : คำกล่าวเรียกผู้ที่จะสนทนาด้วย เป็นคำที่ผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย เช่น ดูกรเจ้าชาลีลูกรัก (ม. ร่ายยาว กุมาร)”

คำว่า “ดูกร” พจน.บอกคำอ่านไว้ว่า ดู-กะ-ระ และ ดู-กอน

ทั้ง ดูกะระ และ ดูกอน เป็นคำอ่านที่มีนัยเหมือนคำบาลี

คำบาลีว่า “กร” (กะ-ระ) ที่คุ้นกันในภาษาไทย คือที่แปลว่า “มือ” หรือ “ผู้ทำ” เช่น ทินกร (ทิน-นะ-กอน) = “ผู้ทำกลางวัน” คือดวงอาทิตย์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษแปลคำว่า “กร” ว่า “the maker” และ ไขความว่า “the hand” เพราะเป็น “ผู้ทำ” นั่นเองจึงหมายถึง “มือ” เนื่องจากเราใช้มือทำกิจต่างๆ มากที่สุด

กร” ในบาลียังมีความหมายอื่นๆ อีก เช่น รัศมี, แสงสว่าง, งวงช้าง, อากร, ภาษี, ส่วย, น้ำ

แต่คำว่า “ดูกร” ไม่ได้มีความหมายตามคำบาลีใดๆ ทั้งสิ้น

ถ้าเช่นนั้น “ดูกร” เป็นภาษาอะไร ?

ความเห็น :

ดูกร” ก็คือ “ดูก่อน” ในภาษาไทยนั่นเอง มีความหมายว่า ขอให้ละกิจอื่นๆ เสียก่อนแล้วหันมาดูทางนี้ หรือ ขอให้มาดูทางนี้ก่อน แล้วจึงค่อยไปสนใจทางอื่น

ดูก่อน” นั่นเองโบราณท่านสะกดเป็น “ดูกร” คือต้องอ่านว่า ดู-ก่อน

ถ้ารู้หลักอักขรวิธีของโบราณ เราก็จะไม่อ่านผิดเป็น ดู-กะ-ระ ดังที่อ่านกันเดี๋ยวนี้ไปได้เลย

ดูก่อน” ตรงกับคำอังกฤษ (ตามพจนานุกรม สอ เสถบุตร) ว่า –

Look here

Hear me

Listen to me

ความหมายก็ตรงกันด้วย คำนิยามตาม พจน.42 ที่ว่า “คำกล่าวขึ้นต้นข้อความกับผู้ที่จะพูดด้วยให้สนใจฟัง” จึงนับว่าตรงกับความจริง (แต่ พจน.54 ตัดคำนิยามนี้ออกไป โปรดดูข้างต้น)

อักขรวิธีของไทยโบราณ เรือ เป็นตัวสะกด ออกเสียงเท่ากับ –อน เช่น –

พร อ่านว่า พอน ไม่อ่านว่า พะ-ระ

กร ( = มือ) อ่านว่า กอน ไม่อ่านว่า กะ-ระ

จีวร อ่านว่า จี-วอน ไม่อ่านว่า จี-วะ-ระ

แม้คำไทยบางคำ โบราณก็ใช้ ร สะกด ออกเสียงเท่ากับ –อน ด้วย

ดูกร” เป็นคำหนึ่งที่ใช้หลักนี้

และโบราณไม่เคร่งครัดเรื่องการใช้วรรณยุกต์กำกับเสียง (หรือจะกล่าวว่าท่านใช้หลักต่างไปจากหลักในปัจจุบันก็ได้) เช่น “เปน” ไม่มีไม้ใต่คู้ แต่ต้องอ่านว่า “เป็น” จะอ่านเท่ากับเสียงคำว่า เบน หรือ เดน ถือว่าอ่านผิด ไม่ใช่ท่านเขียนผิด

คนรุ่นหลังไม่เข้าใจอักขรวิธีเช่นนี้ จึงอ่านไปตามตัวอักษรที่ตาเห็น

ดูกร” จึงกลายเป็น ดูกะระ แทนที่จะอ่านว่า “ดูก่อน” ตามเจตนา

ดูกร” อ่านว่า ดูกะระ เป็นตัวอย่างคำหนึ่งที่อ่าน “ผิดจนถูก” ไปแล้ว

ดูกร” จึงกลายเป็นคนละคำกับ “ดูก่อน” ทั้งๆ ที่เป็นคำเดียวกัน

แถม :

แหตหกร” – นี่เป็นคำไทย เขียนแบบอักขรวิธีโบราณ

ใครทราบบ้างว่าอ่านว่าอย่างไร ?

: อ่านผิด ไม่ตกนรกก็จริง

: แต่ไม่ตกนรกด้วย และอ่านถูกด้วย ดีกว่า

————

หมายเหตุ :

ผู้เขียนบาลีวันละคำ เคยรับราชการที่ แผนกงานบริการหนังสือภาษาโบราณ (ชื่อหน่วยในเวลานั้น) หอสมุดแห่งชาติ อ่านใบลานสมุดข่อยซึ่งเขียนด้วยอักขรวิธีโบราณอยู่เป็นเวลากว่าสามปี

#บาลีวันละคำ (759)

16-6-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *