นโยบาย (บาลีวันละคำ 760)
นโยบาย
(บาลีไทย)
อ่านว่า นะ-โย-บาย
ประกอบด้วย นย + อุบาย
“นย” บาลีอ่านว่า นะ-ยะ แปลตามศัพท์ว่า (1) “การเป็นไป” (2) “อุบายเป็นเครื่องแนะนำ” (3) “วิธีที่พึงแนะนำ” (4) “วิธีเป็นเหตุให้รู้” หมายถึง หนทาง, วิธีการ, แผน, วิธี (way, method, plan, manner)
ในภาษาไทยใช้ว่า “นัย” พจน.54 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) เค้าความที่ส่อให้เข้าใจเอาเอง
(2) ข้อสําคัญ เช่น นัยแห่งเรื่องนี้
(3) ความ, ความหมาย, เช่น หลายนัย
(4) แนว, ทาง, เช่น ตีความได้หลายนัย
(5) แง่ เช่น อีกนัยหนึ่ง
“อุบาย” บาลีเป็น “อุปาย” (อุ-ปา-ยะ) รากศัพท์คือ อุป (= เข้าไป, ใกล้, มั่น) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) แผลง อิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อาย + อ ปัจจัย
: อุป + อิ > เอ > อาย + อ = อุปาย
“อุปาย” แปลตามศัพท์ว่า “กลวิธีเป็นเหตุให้ถึงความชนะศัตรู” “วิธีเป็นเหตุให้เข้าถึง” “การเข้าใกล้” หมายถึง หนทาง, วิธี, กลวิธี, เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม (way, means, expedient, stratagem)
ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “อุบาย” พจน.54 บอกความหมายว่า “วิธีการอันแยบคาย; เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม”
โปรดสังเกตว่า “นย” กับ “อุปาย” มีความหมายไปในแนวเดียวกัน
นย + อุปาย = นยุปาย แผลง อุ เป็น โอ : นยุปาย > นโยปาย ใช้ในภาษาไทยว่า “นโยบาย”
พจน.54 บอกไว้ว่า
“นโยบาย : (คำนาม) หลักและวิธีปฏิบัติซึ่งถือเป็นแนวดําเนินการ”
ในคัมภีร์ไม่พบคำว่า “นโยปาย” โดยตรง แต่มีคำว่า “วินโยปาย” มาจาก วินย (> วินัย = การแนะนำ, การแนะวิธี) + อุปาย = วินโยปาย แปลตามศัพท์ว่า “อุบายแห่งวินัย” หรือ “อุบายคือวินัย” หมายถึง แนวทางในการแนะนำที่ดี, วิธีการแนะนำที่ดี หรือจะแปลว่า “อุบายที่มีวินัยกำกับ” ก็พอได้
: มีวินัย แต่ขาดนโยบาย
: ยังดีกว่ามีนโยบาย แต่ขาดวินัย
#บาลีวันละคำ (760)
17-6-57