บาลีวันละคำ

ธรรมสภา (บาลีวันละคำ 1,317)

ธรรมสภา

อ่านว่า ทำ-มะ-สะ-พา

ประกอบด้วย ธรรม + สภา

(๑) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ต้นปัจจัย

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

(๒) “สภา

รากศัพท์มาจาก –

(1) สนฺต (สัตบุรุษ, คนดี) + ภา (ธาตุ = รุ่งเรือง) + กฺวิ ปัจจัย, แปลง สนฺต เป็น , ลบ กฺวิ

: สนฺต > + ภา = สภา + กฺวิ = สภากฺวิ > สภา แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันรุ่งเรืองด้วยคนดี

(2) สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ภาสฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + กฺวิ ปัจจัย, ลบนิคหิตที่ สํ, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ และลบ กฺวิ

: สํ > + ภาสฺ = สภาสฺ + กฺวิ = สภาสกฺวิ > สภาส > สภา แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มาประชุมกันพูด

(3) สห (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ภา (ธาตุ = พูด, กล่าว) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ ที่ (ส)-, และลบ กฺวิ

: สห > + ภา = สภา + กฺวิ = สภากฺวิ > สภา แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่พูดร่วมกัน

ตามความหมายเหล่านี้ “สภา” จึงเป็นเครื่องหมายของสังคมประชาธิปไตย คือ คนดีๆ มาปรึกษาหารือกันก่อนแล้วจึงลงมือทำกิจการต่างๆ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สภา” ว่า –

(1) a hall, assembly (ศาลา, ที่ประชุม)

(2) a public rest-house, hostelry (บ้านพักสาธารณะ, หอพัก)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

สภา : (คำนาม) องค์การหรือสถานที่ประชุม เช่น สภาผู้แทนราษฎร สภาสตรีแห่งชาติ สภามหาวิทยาลัย วุฒิสภา. (ป., ส.).”

ธมฺม + สภา = ธมฺมสภา > ธรรมสภา แปลตามศัพท์ว่า สถานที่เป็นที่ประชุมเพื่อฟังธรรมและสนทนาธรรม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมสภา” ว่า a hall for the discussion of the Dhamma, a chapel, meetinghouse (ศาลาสนทนาธรรม, ห้องชุมนุมธรรม, โรงประชุม)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ธรรมสภา” ไว้ดังนี้ –

ธรรมสภา : ที่ประชุมฟังธรรม, โรงธรรม; แต่เดิม ในพระไตรปิฎก “ธรรมสภา” เป็นคำที่ใช้น้อย (พบในเรื่องอดีตก่อนพุทธกาลครั้งหนึ่ง คือ ในวิธุรชาดก, ขุ.ชา. ๒๘/๑๐๔๐/๓๖๒, เป็นอาคารหลวงในเมืองอินทปัตถ์ หรืออินทปัตต์ ในกุรุรัฐ, และอีกครั้งหนึ่ง เป็นคาถาประพันธ์ของพระอุบาลีมหาสาวก, ขุ.อป.๓๒/๘/๖๓, กล่าวเป็นความอุปมาว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระธรรมราชา ได้ทรงสร้างธรรมนครขึ้น ในธรรมนครนี้ มีพระสุตตันตะ พระอภิธรรม พระวินัย และพุทธพจน์มีองค์ ๙ ทั้งสิ้น เป็นธรรมสภา), ต่อมา ในชั้นอรรถกถา “ธรรมสภา” ได้กลายเป็นคำสามัญอันใช้เรียกที่ประชุมฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า เช่น ในวัดพระเชตวัน เช่นเดียวกับคำว่า “คันธกุฎี” ที่อรรถกถาใช้เรียกพระวิหารที่ประทับของพระพุทธเจ้า ดังข้อความในอรรถกถา (เช่น องฺ.อ.๑/๑๐๑/๗๔) ว่า  “พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากพระคันธกุฎี มาประทับนั่งเหนือพระบวรพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดไว้ในธรรมสภา”, อาคารที่อรรถกถาเรียกว่าธรรมสภานี้ ตามปกติก็คืออาคารที่ในพระไตรปิฎกเรียกว่า “อุปัฏฐานศาลา” (ศาลาที่ภิกษุทั้งหลายมาเฝ้าเพื่อฟังพระพุทธโอวาทและสดับพระธรรมเทศนา) ดังที่ท่านไขความว่า “คำว่า ‘ในอุปัฏฐานศาลา’ หมายความว่า ‘ในธรรมสภา’” (อุปฏฺฐานสาลายนฺติ  ธมฺมสภายํ, วินย.ฏี.๒/๑๓๔/ ๒๗๗).

……….

มีผู้แสดงความเห็นว่า ถ้าคณะสงฆ์ในบ้านเราจัดตั้ง “ธรรมสภา” ขึ้นเหมือนในสมัยพุทธกาล เราก็จะมีศูนย์รวมความรู้ความคิดเห็นอันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนากระบวนการบริหารกิจการพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี

: ไม่มีธรรมสภา

: ก็ยังดีกว่ามีสภาที่ไม่มีธรรม

6-1-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย