บาลีวันละคำ

พุทธมณฑล (บาลีวันละคำ 1,319)

พุทธมณฑล

อ่านว่า พุด-ทะ-มน-ทน

ประกอบด้วย พุทธ + มณฑล

(๑) “พุทธ

บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า

(๒) “มณฑล

บาลีเขียน “มณฺฑล” อ่านว่า มัน-ดะ-ละ รากศัพท์มาจาก มณฺฑฺ (ธาตุ = ประดับ) + อล ปัจจัย

: มณฺฑ + อล = มณฺฑล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประดับ” “สิ่งที่ประดับด้วยส่วนย่อย

มณฺฑล” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) วงกลม (circle)

(2) วงกลมของพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ (the disk of the sun or moon)

(3) แผ่น, พื้นที่กลมราบ (a round, flat surface)

(4) พื้นที่ซึ่งกั้นรอบและประกอบกิจหรือมีอะไรเกิดขึ้นในนั้น, เขตวงกลมอันเป็นที่แสดงละครสัตว์ (an enclosed part of space in which something happens, a circus ring)

(5) สิ่งที่อยู่ในขอบเขตหรือเขตจำกัด, กลุ่ม (anything comprised within certain limits or boundaries, a group)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มณฑล : (คำนาม) วง เช่น สุริยมณฑล คือ วงรอบดวงอาทิตย์ จันทรมณฑล คือ วงรอบดวงจันทร์, บริเวณ เช่น มณฑลพิธี, เขตปกครองที่แบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ ๆ; พระแท่นที่วงด้ายสายสิญจน์ เรียกว่า พระแท่นมณฑล. (ป., ส.)”

หมายเหตุ :

(1) “มณฺฑล” เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต

(2) “มณฺฑล” ในบาลี เมื่อมีคำอื่นนำ ความหมายจะยักเยื้องไปตามคำนั้นๆ เช่น –

อาปานมณฺฑล = วงเหล้า คือห้องโถง (drinking circle > hall)

กีฬมณฺฑล = วงกีฬา คือการกรีฑา (play-circle > games)

ชูตมณฺฑล = โต๊ะเล่นการพนัน (dicing table)

ยุทฺธมณฺฑล = เวทีสำหรับต่อสู้ (fighting-ring)

ปริมณฺฑล = นุ่งห่มสุภาพเรียบร้อย (dress or cover oneself all round)

พุทธ + มณฑล = พุทธมณฑล แปลว่า พื้นที่ของพระพุทธเจ้า, แดนแห่งพระพุทธศาสนา

พุทธมณฑล” ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม (พื้นที่นี้ต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอพุทธมณฑล) เป็นสถานที่ซึ่งรัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้ดำริจัดสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในโอกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศาสนาดำรงยั่งยืนมา 2,500 ปี ซึ่งครบในวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ. 2500 โดยรัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2498

พุทธมณฑลในปัจจุบันนอกจากจะเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและจัดประเพณีกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปพักผ่อนได้อีกด้วย

: รักษาพุทธธรรมให้เต็มหัวใจ

: รักษาประเทศไทยให้เป็นพุทธมณฑล

8-1-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย