ทารโก อันว่าเด็กน้อย (บาลีวันละคำ 1,320)
ทารโก อันว่าเด็กน้อย
เรียนบาลีทีละน้อยๆ
(๑) “ทารโก” อ่านว่า ทา-ระ-โก ศัพท์เดิมคือ “ทารก” (ทา-ระ-กะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ทรฺ (ธาตุ = ทำลาย) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), สูตร : “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (ณฺวุ คือปัจจัยเนื่องด้วย ณ) : ทรฺ > ทาร
: ทรฺ + ณฺวุ > อก = ทรก > ทารก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำลายแผ่นดิน คือเขียนแผ่นดินเล่น”
(2) ทฺวิ (สอง) + อรฺ (ธาตุ = ไป) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ทฺวิ เป็น ท, ณฺวุ เป็น อก, ทีฆะ อะ ต้นธาตุ เป็น อา (อรฺ > อาร)
: ทฺวิ > ท + อรฺ = ทรฺ + ณฺวุ > อก = ทรก > ทารก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปพร้อมกับมารดาบิดาทั้งสอง”
“ทารก” หมายถึง เด็กน้อย, เด็กชาย; เด็ก, คนหนุ่ม (a young boy, child, youngster; a young man)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทารก : (คำนาม) เด็กที่ยังอยู่ในครรภ์, เด็กแบเบาะ, เด็กเล็ก ๆ, เด็กที่ยังไม่เดียงสา. (ป., ส.).”
(๒) ทารก + สิ วิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์, อะ ที่ (ทาร)-ก + สิ = โอ (สูตรไวยากรณ์ว่า “เอา อะ กับ สิ เป็น โอ”)
: ทารก + สิ = ทารกสิ > (อะ (ที่-ก) + สิ = โอ : ทารก + โอ) ทารโก แปลโดยพยัญชนะตามกฎของศัพท์ที่ประกอบวิภัตติแล้วว่า “อันว่าเด็กน้อย”
เพิ่มเติมความรู้ :
๑ “ทารก” ถ้าเป็นเพศหญิง ก็ลง อิกา หรือ อิก ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ทาร + อิกา = ทาริกา (ทา-ริกา) แปลว่า เด็กหญิงสาว, ลูกสาว (a young girl, daughter)
๒ ความเป็น “ทารก” กำหนดตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนคลอดและมีอายุไม่เกิน 6 ปี เมื่อย่าง 7 ปีจึงจะพ้นวัยทารก (ที่กำหนดดังนี้คงจะเอาเกณฑ์ทั่วไปที่มนุษย์สามารถบรรลุธรรมได้ ดังจะเห็นได้ว่าสามเณรที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มักจะอายุ 7 ปีขึ้นไป)
: เมื่อใดขาดเหตุผล, ไม่มีความสามารถที่จะคิดและที่จะกระทำให้ถูกต้องได้
: เมื่อนั้นผู้ใหญ่ก็ไร้เดียงสาเสียยิ่งกว่าทารก
9-1-59