บาลีวันละคำ

วิกฤติ (บาลีวันละคำ 766)

วิกฤติ

อ่านว่า วิ-กฺริด

บาลีเป็น “วิกติ” อ่านว่า วิ-กะ-ติ

วิกติ” รากศัพท์มาจาก วิ (= พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ติ ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ

: วิ + กรฺ = วิกร > วิก + ติ = วิกติ แปลตามศัพท์ว่า “การทำให้แปลกไปเป็นอย่างอื่น” หมายถึง การเปลี่ยนแปลง, การแปรไป, การผันแปรไปจากปกติ

วิกติ” ในบาลีใช้ในความหมายอย่างอื่นด้วย คือ –

(1) ประเภท, ชนิด (sort, kind)

(2) ผลิตผล, การกระทำ, ภาชนะ (product, make; vessel)

(3) การจัดแจง, การจัดเป็นพวกๆ, การจัดเป็นชนิดๆ; รูปร่าง, ทรวดทรง (arrangement, get up, assortment; form, shape)

วิกติ” สันสกฤตเป็น “วิกฤติ” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

วิกฤติ : (คำนาม) การเปลี่ยนอย่างใดอย่างหนึ่ง, ดุจเปลี่ยนเหตุ –การย์ –ความมุ่งหมาย, เปลี่ยนมนัส, เปลี่ยนรูป ฯลฯ; change of any kind, as a purpose, mind, form”

วิกติ” ในบาลีถ้าเป็นคุณศัพท์ เปลี่ยนรูปเป็น “วิกต” (วิ-กะ-ตะ) แปลว่า ที่เปลี่ยนแปลง, ที่ผันแปร (changed, altered)

ในภาษาไทยใช้ทั้ง “วิกฤต” (ต ไม่มีสระ อิ) และ “วิกฤติ” (ต มีสระ อิ)

ถ้าไม่มีคำสมาสต่อท้าย อ่านว่า วิ-กฺริด เหมือนกันทั้งสองคำ

ถ้ามีคำสมาสต่อท้าย วิกฤต- อ่านว่า วิ-กฺริด-ตะ- เช่น วิกฤตการณ์ อ่านว่า วิ-กฺริด-ตะ-กาน

วิกฤติ– อ่านว่า วิ-กฺริด-ติ- เช่น วิกฤติการณ์ อ่านว่า วิ-กฺริด-ติ-กาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) วิกฤต, วิกฤติ : (คำวิเศษณ์) อยู่ในขั้นล่อแหลมต่ออันตราย เช่น การเมืองอยู่ในขั้นวิกฤติ, มักใช้แก่เวลาหรือเหตุการณ์ เป็น วิกฤติกาล หรือ วิกฤติการณ์, อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ เช่น มุมวิกฤติ จุดวิกฤติ. (ส.; ป. วิกต, วิกติ).

(2) วิกฤตการณ์, วิกฤติการณ์ : (คำนาม) เหตุการณ์อันวิกฤติ เช่น เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมือง.

(3) วิกฤตกาล, วิกฤติกาล : (คำนาม) เวลาอันวิกฤติ เช่น ในวิกฤติกาลข้าวของมีราคาแพงและหาซื้อยาก.

ข้อสังเกต (ตาม พจน.) :

(1) ถ้ากล่าวถึงตัวเหตุการณ์ (= เกิดเหตุอะไร) ใช้ วิกฤตการณ์, วิกฤติการณ์ = -การณ์ กา-ร-ณ

(2) ถ้ากล่าวถึงห้วงเวลา (= วันเดือนปี คราวที่เกิดเหตุ) ใช้ วิกฤตกาล, วิกฤติกาล = -กาล ล ลิง

: คราวคับขัน นึกถึงคนกล้า

: คราวปรึกษา นึกถึงคนไม่พูดพล่าม

: คราวได้ข้าวน้ำ นึกถึงคนรัก

: คราวเกิดเรื่องหนักๆ จึงค่อยนึกถึงบัณฑิต

(ถอดความจากพุทธภาษิต)

#บาลีวันละคำ (766)

23-6-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *