บาลีวันละคำ

กูรู (บาลีวันละคำ 765)

กูรู

คำที่คนไทยสมัยใหม่ถอดมาจากคำว่า guru

“guru” เป็นอักษรโรมันที่เขียนคำบาลีสันสกฤตว่า “คุรุ” อ่านว่า คุ-รุ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คุรุ : (คำนาม) ผู้สั่งสอน, ครู. (ป., ส.)”

ความหมายของ “คุรุ” :

(1) ถ้าแปลตามศัพท์ มีความหมายว่า หนัก (heavy) ตรงกันข้ามกับ “ลหุ” = เบา (light)

(2) ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า สำคัญ, ควรยกย่อง, ที่มีค่าหรือตีราคาสูง (important, to be esteemed, valued or valuable)

(3) ถ้าหมายถึงบุคคล มีความหมายว่า คนที่ควรนับถือ, ครู (a venerable person, a teacher)

คุรุ” ที่หมายถึง “ครู” แปลตามรากศัพท์ว่า (1) “ผู้ลอยเด่น” (2) “ผู้หลั่งความรู้ไปในหมู่ศิษย์” (3) “ผู้คายความรู้ให้หมู่ศิษย์”

คุรุ” เป็นคำที่มีใช้ในภาษาไทยมานานแล้ว คนไทยสมัยใหม่ จะเป็นเพราะไม่รู้ หรือรู้แต่อยากจะแสดงความแปลกใหม่ เมื่อเห็นคำว่า guru แทนที่จะเขียนว่า “คุรุ” กลับถอดคำออกมาเป็น “กูรู

ชวนให้คิดว่า เด็กไทยสมัยใหม่คงจะไม่รู้จักคำว่า “คุรุครู” ไม่รู้จักครู และไม่รู้ว่าควรปฏิบัติต่อครูอย่างไร

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ 265 แสดงการปฏิบัติต่อครู หรือการไหว้ครูตามหลักพระพุทธศาสนาไว้ดังนี้ –

1) ลุกต้อนรับ (อุฏฺฐาเนน) by rising to receive them.

2) เข้าไปหา (เพื่อบำรุง คอยรับใช้ ปรึกษา และรับคำแนะนำ เป็นต้น) (อุปฏฺฐาเนน) by waiting upon them.

3) ใฝ่ใจเรียน (คือ มีใจรัก เรียนด้วยศรัทธา และรู้จักฟังให้เกิดปัญญา) (สุสฺสุสาย) by eagerness to learn.

4) ปรนนิบัติ ช่วยบริการ (ปาริจริยาย) by personal service.

5) เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ (คือ เอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ) (สกฺกจฺจํ สิปฺปํ ปฏิคฺคหเณน) by attentively learning the arts and sciences.

คำว่า “กูรู” เหมือนกับจะบอกครูว่า “กูรู้แล้ว ไม่ต้องมาสอนกู

กูรู :

: รูปคำก็ไม่ดี

: ความหมายก็ไม่มี

: ล้อเสียงเป็น “กูรู้” ฟังดูก็อวดดี

: ของเดิมก็ไม่รักษา ของใหม่ที่ได้มาคุณค่าก็ไม่มี

——————

(ตามความปรารถนาและเมตตาชี้แนะของพระคุณท่าน Sunant Pramaha)

22-6-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *