คว่ำบาตร (บาลีวันละคำ 767)
คว่ำบาตร
บาลีว่าอย่างไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“คว่ำบาตร : (สํานวน) ไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วย, เดิมหมายถึงสังฆกรรมที่พระสงฆ์ประกาศลงโทษคฤหัสถ์ผู้ประทุษร้ายต่อศาสนาด้วยการไม่คบ ไม่รับบิณฑบาต เป็นต้น”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
คว่ำบาตร : การที่สงฆ์ลงโทษอุบาสกผู้ปรารถนาร้ายต่อพระรัตนตรัย โดยประกาศให้ภิกษุทั้งหลายไม่คบด้วย คือไม่รับบิณฑบาต ไม่รับนิมนต์ ไม่รับไทยธรรม, บุคคลต้นบัญญัติ คือวัฑฒลิจฉวี ซึ่งถูกสงฆ์คว่ำบาตร เพราะโจทพระทัพพมัลลบุตร ด้วยสีลวิบัติอันไม่มีมูล, คำเดิมตามบาลีว่า “ปัตตนิกกุชชนา”
“ปัตตนิกกุชชนา” เขียนแบบบาลีเป็น “ปตฺตนิกฺกุชฺชนา” อ่านว่า ปัด-ตะ-นิก-กุด-ชะ-นา ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ ปตฺต + นิกฺกุชฺชนา
ปตฺต แปลว่า บาตร
นิกฺกุชฺชนา แปลว่า คว่ำลง
ปตฺตนิกฺกุชฺชนา จึงแปลตรงตัวว่า “คว่ำบาตร”
คำบาลีบางคำเราเอามาใช้ทั้งคำ ทั้งความหมาย เช่น “บิณฑบาต” คำก็เป็นบาลี ความหมายก็เป็นความหมายตามบาลี
แต่คำว่า “คว่ำบาตร” นี้ เราไม่ได้เอาคำบาลีมาใช้ แต่เอาคำแปลหรือความหมายมาใช้ (อาจเป็นเพราะคำว่า “ปตฺตนิกฺกุชฺชนา” ทั้งรูปทั้งเสียงไม่สู้จะรื่นในภาษาไทย)
ใครคือผู้ที่ควรจะถูก “คว่ำบาตร” ?
ในคัมภีร์แสดงเหตุผลที่ควรจะคว่ำบาตรใครไว้ด้วย พอสรุปได้ดังนี้ –
(1) ผู้ขัดขวางผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือทำให้ส่วนรวมเสียผลประโยชน์
(2) ผู้ก่อให้เกิดอันตรายแก่ส่วนรวม
(3) ผู้ทำให้สังคมอยู่ไม่เป็นสุข
(4) ผู้ใส่ร้ายป้ายสีก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย
(5) ผู้ยุยงให้แตกสามัคคี
(6) ผู้ละเมิดบุคคคลหรือสิ่งที่คนในสังคมนับถือ
: คนทำผิดเท่านั้นที่สมควรถูกลงโทษ
: ผู้บริสุทธิ์ย่อมไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึง
#บาลีวันละคำ (767)
24-6-57