นิมนต์ – อาราธนา (บาลีวันละคำ 1,329)
นิมนต์ – อาราธนา
ใช้ต่างกันหรือเหมือนกัน
(๑) “นิมนต์” (นิ-มน)
บาลีเป็น “นิมนฺตน” (นิ-มัน-ตะ-นะ) รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + มนฺตฺ (ธาตุ = ปรึกษา) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: นิ + มนฺตฺ = นิมนฺตฺ + ยุ > อน = นิมนฺตน แปลตามศัพท์ว่า “การปรึกษาลง” หมายถึง การเชื้อเชิญ, การนิมนต์ (invitation)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิมนต์ : (คำกริยา) เชิญ, เชื้อเชิญ, (ใช้แก่พระภิกษุและสามเณร). (ป. นิมนฺต; ส. นิมนฺตฺร).”
ข้อสังเกต :
๑ พจน.54 บอกว่า “นิมนต์” บาลีเป็น “นิมนฺต” (นิ-มัน-ตะ) ไม่ใช่ “นิมนฺตน”
๒ ควรเข้าใจว่า ที่ พจน.54 บอกเช่นนี้เป็นเพียงการเทียบรูปศัพท์ที่ตรงกัน : นิมนต์ = นิมนฺต คำ “นิมนฺต” ในบาลีเป็นคำที่ยังไม่สำเร็จรูป (ยังนำไปใช้ไม่ได้)
๓ ที่ภาษาไทยพูดว่า “นิมนต์” ถ้าเป็นคำกริยาในภาษาบาลี ใช้ว่า “นิมนฺเตติ” (ปฐมบุรุษ เอกพจน์ = (เขา) เชื้อเชิญ) ถ้าเป็นคำนาม ใช้ว่า “นิมนฺตน” (การเชื้อเชิญ)
(๒) “อาราธนา” (อา-ราด-ทะ-นา)
บาลีอ่านว่า อา-รา-ทะ-นา รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ราธฺ (ธาตุ = สำเร็จ, ทำสำเร็จ, ยินดี) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อา + ราธฺ = อาราธฺ + ยุ > อน = อาราธน + อา = อาราธนา แปลตามศัพท์ว่า “การทำสำเร็จ” “การทำให้ยินดี” หมายถึง การทำให้สำเร็จ, การทำให้พอใจ; ความสำเร็จ, ความพอใจ (accomplishing, satisfying; accomplishment, satisfaction) = ลากเข้าความว่า เมื่อทำสิ่งใดๆ สำเร็จ ก็เป็นเหตุให้เกิดความยินดีพอใจ
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาราธนา : (คำกริยา) เชื้อเชิญ, นิมนต์, อ้อนวอน, (ใช้แก่พระภิกษุสามเณรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์); ขอ. (ป., ส.).”
ข้อสังเกต :
๑ ในภาษาไทย “อาราธนา” ใช้ในความหมายเดียวกับ “นิมนต์” คือ invite หรือ invitation แต่ในภาษาบาลี “อาราธนา” ไม่ได้แปลว่า invitation (ดูคำแปลเป็นภาษาอังกฤษข้างต้น)
๒ ถ้าจะแยกความหมายในภาษาไทยให้สอดคล้องกับบาลี ควรใช้ต่างกันดังนี้ –
: “นิมนต์” คือ เชื้อเชิญให้ไปร่วมงาน (ไปร่วมงานเฉยๆ ไม่ได้บอกว่าให้ทำหน้าที่อะไร)
: “อาราธนา” คือ ขอให้ช่วยทำหน้าที่หรือทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งในงานนั้น
ตัวอย่างเช่น : นิมนต์พระสงฆ์ไปในพิธี แล้วอาราธนาให้เจริญพระพุทธมนต์
ตอนบอกให้พระไปในพิธี นี่คือ “นิมนต์”
ตอนบอกพระให้เจริญพระพุทธมนต์ นี่คือ “อาราธนา”
ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ
: ขออาราธนาให้ช่วยรักษาพระศาสนาไว้จนสุดชีวิต
: ขออย่าได้เป็นห่วงเรื่องกิจนิมนต์
————
(ตามคำนิมนต์ของ อนุสรณ์ มีสุข)
19-1-59