บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จาก “วิน” ถึง “วิก”

จาก “วิน” ถึง “วิก”

——————

แล้วพลิกไปที่ “จำวัด”

ท่าน Tongthong Chandransu (ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ) ได้ปรารภทางเฟซบุ๊กเมื่อ 14 เมษายน 2559 ว่า คำว่า ‘วิน’ มอเตอร์ไซค์ที่พูดกันคุ้นหูทุกวันนี้มีใครทราบไหมว่ามีที่มาอย่างไร 

………

หลังจากปรารภแล้วก็มีผู้นำเอาข้อมูลต่างๆ มาแสดงและเสนอความเห็นกันหลายราย ผมอ่านแล้วก็พลอยได้ความรู้ไปด้วยเป็นอันมาก

พอดีผมมีเรื่องเกี่ยวกับภาษาที่คันหัวใจอยู่คำหนึ่ง จึงขออาศัยเรื่องนี้ไต่ไปหาความรู้ แล้วนำไปสู่เรื่องที่ผมอยากพูด เนื่องจากอยู่ในแนวเดียวกัน

เรียกว่าฉวยจังหวะจากการเปิดประเด็นของท่าน 

จึงขอกราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

ขอสรุปความรู้ที่ได้จากเรื่องที่มาของคำว่า วินมอเตอร์ไซค์ ก่อน

ได้ความว่า คำว่า “วิน” ในที่นี้มาจากคำอังกฤษว่า win ที่เรามักแปลกันว่า ชัยชนะ

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า win ไว้ดังนี้ –

1 ได้มา, ตีได้, บรรลุ, เอาได้

2 ชนะ, ไปถึง (ยอดเขา)

3 ชักชวน, ทำให้รัก, ทำให้เลื่อมใส

โปรดสังเกตว่า นอกจากแปลว่า ชนะ แล้ว win ยังแปลได้อีกตั้งหลายอย่าง

เหตุที่เอาคำว่า win มาใช้กับกิจการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีผู้อธิบายว่า เกิดจากการเทียบกับการแข่งขันประเภทที่ผู้เข้าแข่งขันต้องไปให้ถึงเส้นชัย เช่นแข่งม้าเป็นต้น

ม้าตัวไหนวิ่งถึงเส้นชัยก่อน ก็เรียกว่า win ที่เราเรียกกันในภาษาไทยว่า “เข้าเส้นชัย” หรือทับศัพท์ว่า “เข้าวิน”

เหมือนมอเตอร์ไซค์รับจ้างอย่างไร

คือพวกมอเตอร์ไซค์รับจ้างเขาจะมีท่าจอดรถ มอเตอร์ไซค์ที่รวมกลุ่มกันก็จะเอารถไปจอดรวมกันที่ท่า โดยเมื่อเริ่มบริการก็จะตกลงจัดลำดับกันว่าคันไหนจะออกก่อนออกหลัง

เมื่อแต่ละคันรับผู้โดยสารออกจากท่าไปส่ง ณ จุดหมายปลายทางแล้วก็จะกลับมาที่ท่าอีก

ตอนนี้แหละที่ใช้กฎของ win 

คือคันไหนกลับมาเข้าท่าก่อน คันนั้นก็มีสิทธิ์เข้าต่อลำดับก่อน ไม่ใช่ถือลำดับเหมือนตอนออกสตาร์ทเที่ยวแรก

ยกตัวอย่างจะเห็นภาพชัดขึ้น

สมมุติว่าท่าหนึ่งมีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ๕ คัน

ออกสตาร์ทเที่ยวแรกของแต่ละคันจะออกตามลำดับที่ตกลงกันว่าคันไหนจะออกก่อนหลัง ตามลำดับ ๑ ถึง ๕

คันที่ ๑ ออกไปแล้ว ถ้ากลับมาเข้าท่าตามลำดับ ก็จะมาต่อลำดับจากคันที่ ๕

แต่ถ้าคันที่ ๒ หรือที่ ๓ หรือคันไหนก็ตาม ซึ่งในเที่ยวแรกออกทีหลังคันที่ ๑ เกิดกลับมาเข้าท่าก่อนคันที่ ๑ 

คันที่ ๒ หรือที่ ๓ นั้นก็มีสิทธิ์ต่อลำดับจากคันที่ ๕ ทันที ไม่ต้องรอให้คันที่ ๑ มาเข้าลำดับก่อนเหมือนลำดับในเที่ยวแรก

คันไหนกลับมาเข้าท่าก่อน คันนั้นมีสิทธิ์ออกก่อน

การจัดลำดับจะดำเนินไปในลักษณะนี้ตลอดวันนั้น

การที่รถแต่ละคันพาผู้โดยสารออกจากท่าไปส่งแล้วกลับมาเข้าท่าอีกเช่นนี้แหละ ชาวรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างเรียกกันว่า มา “เข้าวิน” มีลักษณะเทียบได้กับม้าแข่งหรือรถแข่งที่จะต้องรีบไปให้ถึง win คือเส้นชัยให้เร็วที่สุดเพื่อจะได้มีสิทธิ์เข้าต่อลำดับเป็นคันต่อไปก่อนคันอื่น

เมื่อใช้คำว่า “เข้าวิน” นานๆ ไป ก็มีผู้เข้าใจความหมายคลาดเคลื่อนไป 

จาก “วิน” ที่หมายถึง-เข้าเส้นชัย 

กลายเป็น “วิน” หมายถึง-ท่ารถ 

เช่นถ้าพูดว่า “วินมอเตอร์ไซค์” ก็จะเข้าใจกันว่าหมายถึงท่ารถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไม่มีใครนึกถึง win – เส้นชัยกันอีกแล้ว

สรุปว่า win คือเข้าถึงเส้นชัย เอามาใช้กับมอเตอร์ไซค์ ใช้ไปใช้มาหมายถึงท่ารถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นการกลายความหมายหรือใช้คำผิดความหมายชนิดหนึ่ง

————-

จาก win – วิน ชวนให้นึกถึง “วิก” อีกคำหนึ่งซึ่งมีที่มาคล้ายๆ กัน

ในภาษาไทยมีคำที่พูดกันว่า “ปิดวิก” หมายถึงจัดให้มีการแสดงมหรสพโดยวิธีเก็บค่าเข้าดู

“วิก” เป็นภาษาอะไร?

เรื่องนี้ก็มีผู้อธิบายเบื้องหลังเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ประมวลความได้ว่า ต้นเรื่องมาจากเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ขุนนางผู้ใหญ่สมัยรัชกาลที่ ๔ ติดต่อถึงที่ ๕ 

เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงมีคณะละครส่วนตัวของท่าน สมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านไปเห็นโรงละครที่เรียกว่า Theatre ในประเทศอังกฤษที่เปิดแสดงเป็นรอบติดต่อกันหลายวันและเก็บเงินค่าตั๋วจากคนที่เข้าดู ท่านก็เอาแบบมาจัดขึ้นกับคณะละครของท่านบ้าง 

ว่ากันว่าสมัยนั้นละครของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงจะแสดงเฉพาะในคืนข้างขึ้นเดือนหงาย เดือนละ ๗ วัน เนื่องจากผู้คนสามารถออกจากบ้านมาดูละครได้สะดวกกว่าคืนข้างแรม 

ที่ประตูทางเข้าก็จะมีป้ายบอก เช่น “วิกนี้เล่นเรื่องราชาธิราช

คำว่า “วิก” ก็คือ week ในภาษาอังกฤษที่เวลานี้เราแปลกันว่า “สัปดาห์” นั่นเอง 

วิกนี้เล่นเรื่องราชาธิราช” หมายความว่าในช่วงเวลา ๗ วันนี้ละครจะแสดงเรื่องราชาธิราช

สมัยนั้นคนไทยยังไม่คุ้นกับคำฝรั่ง คนส่วนมากไม่เข้าใจว่า “วิก” คือ week เมื่อเห็นคำว่า “วิกนี้” ก็เข้าใจไปว่าหมายถึง “ละครโรงนี้” จนในที่สุดคนทั้งหลายก็พากันเข้าใจ “วิก” ในความหมายว่า “สถานที่จัดแสดงมหรสพ” ไปหมดสิ้น

ต่อมามหรสพชนิดอื่นเช่นลิเกเป็นต้น ก็เอาคำว่า “วิก” ไปใช้บ้าง เช่นลิเกคณะที่เล่นประจำที่บางลำพูก็เรียกว่า “วิกบางลำพู” เป็นต้น เกิดมีวิกนั่นวิกนี่ตามมาอีกมากมาย

ต่อมาอีก คณะลิเก ละคร หรือแม้แต่หมอลำ ตระเวนไปแสดงที่นั่นที่นี่โดยการเก็บเงินคนเข้าดู ก็เรียกกันว่า “ปิดวิก” คือปิดล้อมกั้นเขตให้มหรสพแสดงอยู่ข้างใน คนจะเข้าไปดูต้องเสียเงินค่าผ่านประตู

คำว่า “ปิดวิก” จึงเป็นคำที่รู้จักกันแพร่หลายในสังคมไทย

เป็นอันว่า “วิก” ที่ออกเสียงมาจากคำว่า week ในภาษาอังกฤษ ความหมายเดิมของเขาหมายถึง “วันเวลา”

แต่เอามาใช้ในภาษาไทย ผู้คนกลับพากันเข้าใจว่าหมายถึง “สถานที่แสดงมหรสพ” ไปด้วยประการฉะนี้

คำว่า “วิก” ยังขยายตัวต่อไปอีกจนถึงสถานีโทรทัศน์ เนื่องมาจากเมื่อแรกมีโทรทัศน์ในเมืองไทยนั้น ผู้คนยังมองกันว่าโทรทัศน์เป็นเพียงสื่อสารการบันเทิง คือดูโทรทัศน์เพื่อความบันเทิงเหมือนดูมหรสพ

สถานีโทรทัศน์จึงถูกเรียกว่า “วิก” ไปด้วย เช่น เรียกสถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ ว่า “วิกบางขุนพรหม” เพราะตั้งอยู่ที่บางขุนพรหม แล้วยังมี “วิกสนามเป้า” “วิกหนองแขม” ต่อมาอีกหลายวิก

เวลานี้ได้ยินว่า คำว่า “วิก” ลามไปถึงหนังสือพิมพ์แล้ว

เป็นการใช้คำผิดความหมายจนผิดกลายเป็นถูกไปอีกคำหนึ่ง

อนึ่ง โปรดทราบว่า แม้ว่าคำว่า “วิก” จะมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ โน่นแล้ว แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ยังไม่ได้เก็บคำนี้ไว้ ไม่ทราบว่าราชบัณฑิตท่านมีเหตุผลอย่างไร

นับเป็นคำตกสำรวจอีกคำหนึ่งด้วย

—————-

การใช้คำผิดความหมายเช่นนี้ เราทำกันมานานแล้ว โดยเฉพาะภาษาบาลีที่เอามาใช้ในภาษาไทยก็มีอยู่หลายคำ เช่น 

เวทนา คำเดิมหมายถึงความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ เราเอามาใช้ในความหมายว่า สังเวชสลดใจ

สงสาร คำเดิมหมายถึงการเวียนตายเวียนเกิด เราเอามาใช้ในความหมายว่า รู้สึกเห็นใจในความเดือดร้อนหรือความทุกข์ของผู้อื่น

โมโห คำเดิมหมายถึงความหลง คือรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง เราเอามาใช้ในความหมายว่าโกรธ

วิตก คำเดิมหมายถึงการคิดนึกตรึกตรอง เราเอามาใช้ในความหมายว่ารู้สึกกังวลใจ

ฯลฯ

การใช้คำผิดความหมายที่ผิดมานานแล้วจนกลายเป็นถูก ก็ต้องปล่อยตามเลย เพราะกู่อย่างไรก็ไม่กลับแล้ว

แต่คำใหม่ๆ ไม่ว่าจะยืมมาจากต่างภาษาหรือแม้แต่คำไทยของเราเอง ควรระวังไม่ใช้ให้ผิดความหมายเพิ่มขึ้นมาอีก 

ตรงนี้ก็มาเข้าเรื่องที่ผมบอกไว้ข้างต้นว่า มีเรื่องเกี่ยวกับภาษาที่คันหัวใจอยู่คำหนึ่ง 

คำที่ว่านั้นคือคำว่า “จำวัด”

“จำวัด” ไม่ได้ยืมมาจากภาษาใคร เป็นคำไทยของเราเอง

“จำวัด” หมายถึงพระสงฆ์สามเณรนอนหลับหรือเข้านอน 

แต่มีผู้เอาไปใช้ในความหมายว่า-พระสงฆ์สามเณรอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่ง

………..

ดูตัวอย่าง:

พระมหาทองย้อย เป็นพระสังกัดวัดมหาธาตุ ราชบุรี

เวลาสื่อเอ่ยถึงพระมหาทองย้อย ก็จะเขียนหรือพูดว่า –

——

พระมหาทองย้อย จำวัดอยู่ที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี

——

ทั้งนี้เพราะความเข้าใจผิดคิดเอาเองว่า-จำวัด หมายถึงอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่ง

………..

ผู้นำการใช้ผิดๆ ตัวสำคัญคือสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อเสียงและภาพ

คำว่า “จำวัด” เป็นคำเก่า ผู้ที่ทำงานในวงการสื่อทุกประเภทในเวลานี้ล้วนแต่เกิดทีหลังคำนี้ทั้งสิ้น

“จำวัด” เป็นคำที่มีความหมายแน่นอนชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ใช่คำที่คลุมเครือหรือจะต้องไปวิเคราะห์วิจัยขุดค้นหาความหมายกันใหม่แต่ประการใดเลย 

แค่เปิดพจนานุกรมที่เป็นภาษาไทย ก็จะพบคำนี้ แล้วอ่านความหมายซึ่งท่านบอกไว้เป็นภาษาไทยเช่นกัน ก็จะรู้ทันทีว่า “จำวัด” หมายถึงภิกษุสามเณรนอนหลับ

ไม่ได้บอกไว้ที่ไหนเลยว่า จำวัดคืออยู่ประจำ ณ ที่วัดโน้นวัดนี้

แต่น่าสังเวชใจอย่างยิ่งที่คนเขียนข่าวและคนอ่านข่าวทุกวันนี้ไม่สนใจที่จะทำเช่นนั้น

คนอยู่บ้านนอก ไม่เคยเปิดพจนานุกรมเลย ถามว่า “จำวัด” แปลว่าอะไร ยังตอบได้ทันทีว่า-พระนอนหลับ

—————

เฉพาะคำว่า “จำวัด” นี้ ขอประทานโทษที่จะต้องพูดว่าสื่อบ้านเราหูหนวกตาบอดโดยสิ้นเชิง หมายความว่าไม่ยอมรับรู้ ไม่ยอมเรียนรู้ ไม่ยอมเข้าใจอะไรทั้งสิ้น 

จำวัดคืออยู่ประจำ ณ ที่วัดโน้นวัดนี้-ฉันจะตะบี้ตะบันใช้ของฉันยังงี้แหละ 

พจนานุกรมจะว่าอย่างไร ก็ช่าง ปู่ย่าตายายโคตรเหง้าศักราชท่านจะใช้มาอย่างไร ก็ช่าง ไม่รับรู้ทั้งสิ้น

รับรู้อยู่อย่างเดียวว่า-จำวัดคืออยู่ประจำที่วัด-กูจะใช้ของกูอย่างนี้ ใครจะทำไม

ถ้าเอาคำว่า “จำวัด” เป็นตัวชี้วัด ก็จะเห็นได้ว่าสื่อบ้านเราเป็นพวก-ผิดไม่เป็น

ใครจะมาว่ากูใช้ผิด ไม่ได้ 

แต่กูจะใช้ไอ้ที่ผิดๆ นี่แหละให้กลายเป็นถูกให้จงได้

เวลานี้ได้ยินอ้างกันแล้วว่า-จำวัดคืออยู่ประจำที่วัด-เห็นเขาใช้กันอย่างนี้ทั้งนั้น

เข้ารกเข้าพงจนกู่ไม่กลับ-ยังไม่รู้สึกตัว

—————

อุดมคติของสื่อคือ-มีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏ

คือถูกบอกว่าถูก ผิดบอกว่าผิด

แต่-แค่การใช้คำว่า “จำวัด” ให้ถูกความหมาย-แค่นี้สื่อยังทำไม่ได้ ซึ่งอันที่จริงคือทำได้ แต่ไม่ยอมทำ

แล้วจะไปชี้แนะชี้นำปัญหาของชาติบ้านเมืองได้อย่างไร

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๙ เมษายน ๒๕๕๙

๑๔:๑๐


…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *